งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม วันที่ 24-26 ตุลาคม 2546

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ถึงคราวอบจ.ลำปาง สร้างอุทยานการเรียนรู้ที่หนองกระทิง





ข่าวจากลานนาโพสต์ (31 กรกฎาคม-6 สิงหาคม 2552) ลงข่าวไว้ว่า
อบจ.ลำปางเริ่มสานฝันสร้างอุทยานการเรียนรู้ที่สวนสาธารณะหนองกระทิง ใช้งบ 40 ล้าน สั่งปิดสวนตั้งแต่ 1 ส.ค.-ธ.ค.52 เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างและความปลอดภัยของประชาชน

หลังจากที่สวนสาธารณะหนองกระทิง ต.บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง ได้มีการปรับปรุงและปรับภูมิทัศน์ขึ้นใหม่ให้ดูสวยงามร่วมรื่นพร้อมทั้งมีการรักษาความสะอาดรักษาความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสวนสาธารณหนองกระทิงเคยใช้เป็นสถานที่การจัดงานใหญ่ของจังหวัดลำปางหลายงานด้วยกัน เช่น งานวันเด็ก งานลอยกระทง งานฤดูหนาว ฯลฯ ที่จัดขึ้นโดย อบจ.ลำปาง และเมื่องบประมาณปี 2550 ที่ผ่านมา

นางสุนี สมมี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เคยกล่าวถึงแนวคิดที่จะพัฒนาสวนสาธารณะหนองกระทิงให้เป็นที่รู้จักและเป็นชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง โดยจะจัดทำเป็นอุทยานการเรียนรู้ ซึ่งเปรียบเสมือนห้องสมุดมีชีวิตให้กับเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง แทนที่จะไปมั่วสุมตามร้านเกมส์ หรือไปรวมกลุ่มกันตามห้างสรรพสินค้า ก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่เป็นธรรมชาติ พร้อมทั้งยังจะได้เรียนรู้ต่างๆ อีกมากมาย จนกระทั่งปัจจุบันอบจ.ลำปางได้เดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนสาธารณหนองกระทิง ให้เป็นอุทยานการเรียนรู้และศูนย์การออกกำลังกายของประชาชนจังหวัดลำปางแล้ว

นางสุนี สมมี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ตามที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนสาธารณะหนองกระทิงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมควมพร้อมที่จะจัดทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะหนองกระทิงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะจัดทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะหนองกระทิง เพื่อให้เป็นอุทยานการเรียนรู้และศูนย์การออกกำลังกายของประชานจังหวัดลำปาง ซึ่งขณะนี้อบจ.ลำปาง ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วในบางส่วน ภายในพื้นที่สวนสาธารณะจะมีสถานที่ให้ประชาชนได้ทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย เช่น การก่อสร้างศูนย์เรียนรู้, ฐานออกกำลังกาย, สนามเด็กเล่น หอสังเกตการณ์, ลานกลางแจ้งหรือลานเอนกประสงค์, ร้านจำหน่ายสินค้า, ร้านอาหารจำนวน 3 หลัง, ห้องน้ำ และการติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 40 ล้านบาท

สำหรับส่วนที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างมากที่สุด คือ ส่วนของศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยจะก่อสร้างบริเวณเกาะลอยซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของสวนสาธารณะ รูปแบบเป็นอาคารขนาดใหญ่ ภายในจะมีลักษณะคล้ายกับห้อสมุดให้เด็กๆได้ค้นคว้าหาข้อมูล และจะมีการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของลำปาง ภูมิปัญญาชาวบ้าน ฯลฯ โดยภายในศูนย์จะมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศครบครัน ซึ่งศูนย์การเรียนรู้จุดนี้จะใช้งบประมาณจำนวน 10 ล้านบาท และเนื่องจากมีการก่อสร้างอยู่หลายจุด เกรงว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกและความปลอดภัยต่อประชาชน และเพื่อความสะดวกสบายในการก่อสร้าง และเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติภัยแก่ประชาชนผู้สัญจรผ่านไปผ่านมาในระหว่งการก่อสร้าง อบจ.จึงได้ดำเนินการปิดสวนสาธารณะหนองกระทิงเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 เดือน นางสุนี กล่าว

นายก อบจ.ลำปาง ยังได้กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของร้านค้าที่เปิดขายของอยู่ในสวนสาธารณะหนองกระทิงว่า ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อทราบว่าจะมีการปรับปรุงสวนสาธารณะก็ยอมที่จะย้ายออกไป จะมีเพียง 1 ร้านเท่านั้นที่หมดสัญญาเช่าแล้ว แตไม่ยอมย้ยออก หลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว อบจ.ได้ผัดผ่อนให้อยู่ต่อก่อนได้ แต่หากว่า อบจ.ต้องการใช้พื้นที่แล้วไม่ยอมย้ายออกจริงๆ ก็คงต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยให้นิติกรดำเนินการต่อไป

นางสุนี กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายหลังที่การก่อสร้างภายในทุกอย่างเสร็จสิ้นลง จะทำให้สวนสาธารณะหนองกระทิงแห่งนี้มีความสวยงามสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงสถานที่สำหรับพักผ่อนของประชาชน แต่จะเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้เป็นอุทยาการเรียนรู้และศูนย์การออกกำลังกายที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง
..................
สายสืบหอศิลป์
อาทิตย์ 9
สิงหา 52

เจอโดยบังเอิญเว็บบล็อกเกี่ยวกับ Lampang Museum


เว็บบล็อกที่ชื่อ http://lampangmuseum.blogspot.com/
ค้นงานไปมา ไปเจอเว็บบล็อกที่ชื่อ http://lampangmuseum.blogspot.com/
ดูแล้วราวกับว่าจะเป็นเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างบริเวณข่วงนครของเทศบาลนครลำปาง สังเกตดูแล้วเริ่มจัดทำเว็บบล็อกในวันที่ 4 สิงหาคม 2552 นี้ โดยมีเนื้อหาดังนี้
1.จากเขลางค์นครสู่นครลำปาง
2.สัมปทานป่าไม้&ชุมชนนานาชาติ
3.“คนสมัยคนลำปาง”
4.ศูนย์การบริหารราชการภาคเหนือตอนบน
5."ฮ่อมแฮงแป๋งเวียง”
รายละเอียดความคืบหน้า เราจะติดตามมาเล่าสู่กันฟังในวันข้างหน้า
.......................
สายสืบหอศิลป์
อาทิตย์ 9
สิงหา 52

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อสังเกตจาก หนังสือขอรับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณในการจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง"

ได้รับสำเนาหนังสือ ที่ ลป 0031/2060 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์รับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณใน
การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง
ที่ลงนามโดยนายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และลงท้ายด้วยช่องทางการติดต่อ
กับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง

หนังสือฉบับนี้ มีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการก็คือ
1) การเรียกใช้ชื่อ "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง" ไม่ทราบว่าได้นำชื่อพิพิธภัณฑ์นี้มาจากที่ใด เนื่องจากหากเท้าความถึงเรื่องเดิมแล้ว ในกรณีของการดำเนินการเกี่ยวกับศาลาจังหวัดหลังเก่า จะรู้จักกันในนาม "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" ดังที่มีปรากฏอยู่ใน หนังสือที่ ลป 0016.3/2363 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 ลงนามโดยนายอมรทัต นิรัตศยกุล
2) โครงการจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง" คืออะไร มาจากไหน ใครเป็นคนจัดทำ
3) อำนาจในการดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนั้น ตามข่าวจะเห็นว่าจังหวัดได้มอบหมายให้เทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบอาคารสถานที่ แต่เหตุไฉนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง จึงเป็นผู้ดูแลเรื่องการรับบริจาควัตถุโบราณ โดยที่ยังมิได้มีการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าภาพ มิพักที่จะต้องพูดถึงการแจ้งข่าวต่อที่ประชุม และที่สาธารณะ

การดำเนินการร่วมกันในหลายฝ่าย ล้วนเป็นความความตั้งใจที่ดี แต่หากมิได้รับการประสานงานและทำความเข้าใจต่อกันอย่างเพียงพอแล้ว อาจทำให้การดำเนินประสบปัญหาอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ดังนั้น ความตั้งใจของบทความนี้ก็เพื่อทบทวนจุดยืนดังกล่าว

ด้านล่างนี้คือ เนื้อความในจดหมาย


ที่ ลป 0031/2060
ศาลากลางจังหวัดลำปาง
ถนนวชิราวุธดำเนิน ตำบลพระบาท
อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000

15 มิถุนายน 2552

เรื่อง ขอความอนุเคราะห์รับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโราณในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง

เรียน ...

สิ่งที่ส่งมาด้วย โครงการจัดตั้งพิพิธภัณพ์พื้นบ้านนครลำปางฯ พร้อมแบบตอบรับการบริจาค จำนวน 1 ชุด

เนื่องด้วยจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีภูมิประวัติอันยาวนาน ประมาณ 1,329 ปี บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างศิลปะ สืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีหลักฐานที่เป็นแหล่งโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ตลอด จนมีสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมาย กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคล ผู้เป็นปราชญ์ท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่างๆ อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดลำปาง มีจำนวนมากมาย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้มุ่งเน้นให้ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้มีการศึกษาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน โดยนำ ภูมิปัญญาและจารีตประเพณีมาประกอบการดำเนินชีวิตและครอบครัวให้มีความสุขอย่างพอเพียง อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป

ดังนั้นจังหวัดลำปางเห็นว่าศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิมของจังหวัดลำปางสามารถใช้เป็นที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปาง ยังผลต่อการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต สังคมและเศรษฐกิจทั้งระดับ ท้องถิ่นและระดับชาติโดยรวมของจังหวัดได้ แต่เนื่องด้วยอาคารดังกล่าวควรมีการปรับปรุงสภาพให้เหมาะสมกับการจัดแสดงนิทรรศการถาวรในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์และการจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจังหวัดได้มีการจัดประชุมคณะทำงานฯขึ้นแล้วหลายครั้ง

ความก้าวหน้าในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนนครลำปาง คือ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และคณะทำงาน ได้ทำโครงการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล โดยงบประมาณผ่านไปแล้วร้อยละ 90 เพื่อให้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปางเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งฯ จังหวัดลำปางจึงขอความอนุเคราะห์จากท่านรับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณ (อาทิเช่น เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า เครื่องประดับ วัตถุประกอบการทำอาหาร เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องมือในการประกอบอาชีพ รูปภาพ เป็นต้น)สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปางและเพื่อทราบถึงประวัติความเป็นมาอันยาวนานของจังหวัดลำปางที่บรรพบุรุษได้สั่งสมไว้ให้ต่อไปถึงรุ่นลูกหลานในอนาคต

จังหวัดลำปางจึงขอความอนุเคราะห์จากท่านเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณดังกล่าวสำหรับนำไป ดูแล รักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง
โดยขอความกรุณาจากท่านกรอกแบบแสดงความประสงค์ในการบริจาคตามแบบฟอร์ที่แนบมาพร้อมนี้ ส่งคืนให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง 409 ถนนพระเจ้าทันใจ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000 เบอร์โทรศัพท์ 054-228763 โทรสาร 054-228762 เพื่อจัดทำทำเนียบผู้บริจาคฯ ส่วนสิ่งของวัตถุโบราณจะขอรับต่อเมื่อได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว

จึงเรียนมาเพื่อให้ความอนุเคราะห์รับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณดังกล่าวต่อไป ขอบุญบารมีที่ท่านได้กระทำให้แก่จังหวัดลำปางในครั้งนี้จงส่งผลให้ท่านและครอบครัวของท่านประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไปด้วยเทอญ

ขอแสดงความนับถือ

(นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์)
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด
กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
โทร 0 5422 8763
โทรสาร 0 5422
8762

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้คัดลอกแบบฟอร์มการตอบรับเป็นเจ้าภาพมาให้ดูกันด้วย

แบบตอบรับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณสำหรับจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
******************
ข้าพเจ้า
นาย/นาง/น.ส........................นามสกุล..................................
ตำแหน่งหน้าที่การงาน......................................................
ที่อยู่.........................................................................
.........................................................................
.........................................................................
เบอร์โทรศัพท์
.........................................................................
โทรศัพท์มือถือ
.........................................................................
มีความประสงค์เป็นเจ้าภาพรับบริจาควัตถุโบราณเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง
(ศาลากลางจังหวัดหลังเดิม) จำนวน.......................รายการ ดังนี้
1..........................................................................
2.........................................................................
3.........................................................................
4.........................................................................
5.........................................................................
6.........................................................................
7.........................................................................
8.........................................................................
9.........................................................................
10.........................................................................
ลงชื่อ
.........................................................................
(.........................................................................)
ผู้บริจาควัตถุโบราณ
วันที่............เดือน............................พ.ศ......................

..........................
สายสืบหอศิลป์
พุธ 8
กรกฎา 52

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ:ก้าวใหม่แห่งการเรียนรู้เมืองลำปาง บทบรรณาธิการ ลานนาโพสต์

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ:ก้าวใหม่แห่งการเรียนรู้เมืองลำปาง
โดย..บรรณาธิการ
http://www.lannapost.net/butkoam725.htm

เห็นข่าวความก้าวหน้าของโครงการ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติที่จะใช้ศาลากลางหลังเก่า ใจกลางเมืองลำปางเป็นสถานที่จัดตั้งแล้วดีใจ ถ้าข้อมูลไม่ผิด ลำปางจะเป็นจังหวัดแรกที่มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติอย่างเป็นทางการ ขณะที่จังหวัดอื่นๆจะอยู่ในฐานะเครือข่ายของสถาบันการเรียนรู้แห่งชาติเท่านั้น

ในการระดมความเห็นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ชาวลำปางคงทราบแล้วว่า สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเป็นองค์กรมีฐานะและการทำงานในรูปแบบ องค์การมหาชน คือได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณจากรัฐหรือรัฐบาล แต่บริหารในรูปแบบพิเศษ และต้องหาทางช่วยเหลือตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดด้วย โดยเป็นการทำงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547

หาความรู้เกี่ยวกับชื่อที่เรียกกันว่าพิพิธภัณฑ์ก่อน ตามเนื้อหามีประมาณ 15 ประเภท เช่นพิพิธภัณฑ์ทาง ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ธรรมชาติวิทยา สื่อสารและคมนาคม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน วิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา ศิลปะ ผ้าไทย เศรษฐกิจ มานุษยวิทยา เป็นต้น

แม้ลำปางเราจะไม่พิพิธภัณฑ์ ในสังกัดกรมศิลปากร แต่เราก็มีพิพิธภัณฑ์อยู่แล้วหลายแบบ เช่นพิพิธภัณฑ์ของวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดปงสนุกเหนือ วัดพระแก้วดอนเต้า วัดไหล่หิน หรือวัดอื่นๆอีกมากมายหลายวัด หรือแม้แต่บ้านเสานัก ก็น่าจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์รูปแบบหนึ่งได้ ถ้าหากมีการจัดเนื้อหาให้เป็นระบบมากขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นเน้นแต่สิ่งของ แต่ไม่ได้เน้นการเรียนรู้ เนื้อหาจึงมีค่อนข้างน้อย และที่สำคัญมากที่สุดคือ หลายแห่งมีป้าย มีสิ่งของเก่าๆ แต่ปิดไม่ได้ให้เข้าชม มีหรือไม่มีพิพิธภัณฑ์ จึงไม่แตกต่างกัน

แล้วพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่จะมีขึ้นในลำปางน่าจะเป็นอย่างไร

เปรียบเทียบกัน มิวเซียมสยาม หรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งใช้วิธีปรับปรุงอาคารเก่าของกระทรวงพานิชย์เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย มีการออกแบบนิทรรศการ เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้อันรื่นรมย์สำหรับเยาวชน ประชาชนทั่วไป รวมถึงชาวต่างประเทศ ในเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของคนไทยและดินแดนอุษาคเนย์ นิทรรศการที่ว่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอเรื่องราวด้วยวิธีการต่างๆ ตัวอย่างในลำปางที่คล้ายๆกันคือ พิพิธภัณฑ์ ลิกไนต์ของเหมืองแม่เมาะนั่นเอง

สำหรับ พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ เขากำหนดตัวเองว่า เป็น Discovery Museum เป็นพิพิธภัณฑสถานแนวใหม่ในยุคแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ เน้นกระตุกต่อมคิด จุดประกายความอยากรู้สู่การค้นพบความคิดใหม่ๆ ด้วยตนเองตลอดเวลาอย่างไม่รู้ตัว เพื่อการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ

พร้อมกันนี้ก็จะมีแนวทางให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ [ Play + Learn = เพลิน] สร้างสำนึกรักและเข้าใจผู้คน บ้านเมือง รู้จักเพื่อนบ้าน รวมถึงการสร้างแนวคิดและภาพลักษณ์ใหม่ของ “พิพิธภัณฑ์” ในสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติยังมีบทบาทในการสร้าง สนับสนุน และร่วมมือเป็นเครือข่ายกับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐานกระบวนการเรียนรู้ และการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯคือการใช้ พื้นที่เกือบ 3,000 ตารางเมตรในอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร “เรียงความประเทศไทย” เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องอันยาวนาน ผู้ชมจะได้ เรียน เล่น รู้ กับปริศนาหลายหมื่นหลายพันปีของสุวรรณภูมิ มูลเหตุสู่ยุคทองของสยามประเทศ และเงื่อนปมก่อนจะมาเป็นประเทศไทยอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อค้นหาคำตอบสำคัญว่า “เราคือใคร” และ “ความเป็นไทยหมายถึงอะไร”

เห็นภาพของส่วนกลางแล้วบอกตามตรงว่า “ฝันไกล” เลยละครับ

ในส่วนของจังหวัดลำปาง ถือว่าเป็นที่โชคดีที่มีภาคเอกชนคอยผลักดันเต็มที่โดยการประสานงานกับ พลเรือเอกธนิต กิตติอำพล เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ โดยตรงและเกือบจะไม่ได้ ตั้งเพราะมีปัญหาเรื่องความเข้าใจของข้าราชการบางคน แต่สุดท้ายก็มีความก้าวหน้ามาได้ โดยล่าสุดคือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง สามารถ ลอยฟ้า ยืนยันว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เซ็นอนุมัติให้เทศบาลเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ ศาลากลางหลังเก่า ซึ่งก็หมายถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เทศบาลนครลำปางจะเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการดำเนินงานต่อไปแล้ว

ถึงเวลานั้น เยาวชนลำปาง คงจะไม่รู้จักบุคลในประวัติศาสตร์ลำปางเพียง พระนางจามเทวี เจ้าอนัตยศ เจ้าทิพย์ช้าง และเจ้าบุญวาทย์
หลายคนอาจบอกว่า โครงการลำปางอาจจะเล็กไม่ได้ตามที่หวัง แต่ถ้าดูตามงบประมาณ ที่กรุงเทพฯใช้งบประมาณในการปรับปรุง 135 ล้านบาท ส่วนที่จังหวัดลำปาง เป็นโครงการในวงเงินงบประมาณ 155 ล้านบาท

ทั้งหมดคงจะเริ่มเห็นภาพเมื่อ อบจ.ย้ายที่ทำงานไปที่ อ.เกาะคา ประมาณเดือนตุลาคม และในเวลาใกล้ๆกันโครงการก่อสร้างตลาดหลักเมืองจะเริ่มขึ้นและน่าจะเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน

อยากเห็นโฉมหน้าเมืองลำปางตอนนั้นจริงๆครับ.....
.....................
สายสืบหอศิลป์
พุธ 8
กรกฎา 52

พิพิธภัณฑ์ลำปางเสร็จสมบูรณ์เปิดปี 56 : ลานนาโพสต์เกาะติดสถานการณ์

พิพิธภัณฑ์ลำปางเสร็จสมบูรณ์เปิดปี 56
http://www.lannapost.net/news725.htm

สถาบันพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ แจงแผนการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ลำปาง ภายใน 3 ปีต้องเสร็จ เชื่อลำปางมีความพร้อมที่สุด อีกทั้งสถานที่จัดสร้างยังเป็นอยู่ในชัยภูมิที่ดี เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ลำปางหลายสมัย

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.52 หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการจัดประชุม เพื่อชี้แจงและร่วมหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปางขึ้นที่ห้องประชุม 5 ธันวา เทศบาลนครลำปาง โดยมีนายสุรพล ตันสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์และกิจกรรมสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ “มิวเซียมสยาม” นายภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อดีตผู้ประสานงานหลักโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง(ล้านคำลำปาง) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 50 คน เข้าร่วมประชุมหลังจากที่จังหวัดลำปางได้มอบพื้นที่ศาลากลางหลังเก่าให้กับเทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดูแล เพื่อจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง โดยได้รับอนุมัติงบประมาณในการจัดสร้างจำนวน 155 ล้านบาท

ในที่ประชุม นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์และกิจกรรมสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้กล่าวถึงแผนการดำเนินโครงการและการจัดตั้งงบประมาณไว้ว่า สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) ได้มีโครงการส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นและภูมิภาค 7 จังหวัด คือ ลำพูน ลำปาง ลพบุรี พิจิตร นครราชสีมา จันทบุรี และภูเก็ต

ซึ่งตนเชื่อว่าจังหวัดลำปางมีศักยภาพและมีความพร้อมที่สุดใน 7 แห่ง โดยการดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง ได้วางแผนไว้ว่าจะดำเนินการภายใน 3 ปี คือ ปี 2553-2555 เนื่องจากเกรงว่าถ้านานกว่านั้นงบประมาณอาจถูกตัดไป จึงต้องทำให้เสร็จทันในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีแผนการใช้งบประมาณจะแยกเป็น 4 ไตรมาส

ในปีแรก 2553 จะใช้งบประมาณจำนวน 5 ล้านบาท เกี่ยวกับงานศึกษาวิจัย จัดทำแผนการบริการจัดการแบบมีส่วนร่วม , ศึกษาพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการเรียนรู้ ,งานขุดค้นทางโบราณคดี และการจัดทำแผนแม่ทบในการพัฒนา

ปี 2554 ใช้งบประมาณจำนวน 65 ล้านบาท โดยเป็นแผนงานการออกแบบปรับปรุงอาคารและภูมิทัศน์ , จัดทำบทนิทรรศการ ,ออกแบบนิทรรศการและสถาปัตย์ภายใน , งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารและภูมิทัศน์ และงานออกแบบและก่อสร้างนิทรรศการและสถาปัตย์ภายใน

และสุดท้ายปี 2555 ใช้งบประมาณ 85 ล้านบาท ในการก่อสร้าง จัดทำนิทรรศการถาวร และสถาปัตย์ภายในทั้งหมด โดยในส่วนนี้จะแยกงบประมาณออกมาจำนวน 5 ล้านบาท เพื่อทดลองจัดทำนิทรรศการหมุนเวียนและกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อรองรับการเปิดดำเนินการพิพิธภัณฑ์อย่างถาวร ในปี 2556

นอกจากนั้นอาจจะมีการจัดสร้างอาคารต้อนรับทางด้านหน้าตึก และมีอาคารหอประชุมใหญ่ทางด้านหลังด้วย ซึ่งแผนการใช้งบประมาณส่วนนี้สถาบันพิพิธภัณฑ์ได้วางไว้คร่าวๆ หากมีคำแนะนำอื่นๆ อาจจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านนายภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อดีตผู้ประสานงานหลักโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง(ล้านคำลำปาง) กล่าวว่า การดำเนินการขับเคลื่อนการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ หรือหอศิลป์เมืองลำปาง เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 นับได้ว่าเป็นปีที่ 6 แล้วในการดำเนินการ และในปีนี้ได้มีความพร้อมทั้งสถานที่ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและงบประมาณ ขณะเดียวกันเทศบาลนครลำปางก็รับเป็นเจ้าภาพในการดูแลจัดการพื้นที่

สำหรับอาคารศาลากลางเก่ามีประวัติศาสตร์มากมาย เช่น เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว บริเวณนี้ได้เป็นหอคำคุ้มหลวงของจังหวัดลำปาง ต่อมาเมื่อสมัยปฏิรูปรัชกาลที่ 5 ได้จัดสร้างเป็นศาลากลางจังหวัดลำปาง เมื่อศาลากลางจังหวัดย้ายไปที่แห่งใหม่ ก็กลายมาเป็น ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง จนปัจจุบัน อบจ.ได้ขอใช้พื้นที่จัดตั้งเป็นสำนักงานชั่วคราว นอกจากนั้นพื้นที่บริเวณนี้ยังได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานต่างๆด้วย เช่น การจัดงานฮอมแฮง แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) การเรียนการสอนสืบสานซึงสะล้อที่หอศิลป์ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ งานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโคมศรีล้านนา เป็นต้น จึงเป็นที่น่ายินดีของชาวลำปางที่จะมีพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เกิดขึ้นจากที่รอคอยมานาน เพื่อเป็นประโยชน์กับลูกหลานในอนาคต
....................
สายสืบหอศิลป์
พุธ 8
กรกฎา 52

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑ์ฉลุย เทศบาลรับมอบศาลากลางเก่า : ข่าวจากลานนาโพสต์



เชิญอ่านครับ

พิพิธภัณฑ์ฉลุย เทศบาลรับมอบศาลากลางเก่า
เดินหน้าลุยพิพิธภัณฑ์ลำปาง จังหวัดเซ็นอนุมัติมอบอาคารศาลากลางเก่าให้เทศบาลจัดการ

ความคืบหน้าการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง เผยแพร่บทความหลังจากที่ทุกภาคส่วนได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ อมรทัต นิรัติศยกุล จนมาถึงผู้ว่าฯ ดิเรก ก้อนกลีบ ซึ่งมีท่าทีว่าจะพิพิธภัณฑ์จะเกิดขึ้นได้เพราะทางผู้ว่าฯดิเรกก็เห็นชอบในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ต้องย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเสียก่อน โดยมาต่อช่วงของผู้ว่าฯอมรพันธ์ นิมานันท์ ซึ่งไม่ทันไรก็ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ความหวังจึงเริ่มริบหรี่ลง

แต่ก็ยังเป็นที่โชคดีของจังหวัดลำปาง ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน โดยพลเรือเอกธนิต กิตติอำพล เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้เคยมาที่จังหวัดลำปางหลายครั้งและเคยคุยกับคนลำปางเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นี้ จึงมีความคิดเห็นว่าที่จังหวัดลำปางก็มีความเหมาะสมที่จะจัดทำพิพิธภัณฑ์ระดับมาตรฐานขึ้นมาเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ได้ สถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ จึงได้ทำโครงการเข้าเสนอรัฐบาลว่าจะจัดทำพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ขึ้นที่จังหวัดลำปาง โดยพลเรือเอกธนิต ได้เดินทางมาที่เทศบาลนครลำปาง เพื่อปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าว และได้เข้าพบกับนายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อที่จะแจ้งให้ทราบว่าสถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ ได้รับอนุมัติโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่จังหวัดลำปางในวงเงิน 155 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเร็วๆนี้

ซึ่งนายนิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้กล่าวว่า เรื่องที่ยังติดขัดอยู่ก็คือจังหวัดยังไม่ได้มีการมอบพื้นที่อาคารศาลากลางหลังเก่าให้กับเทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดำเนินการ จึงยังไม่สามารถทำอะไรได้ จะต้องรอนายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ประชุมพูดคุยกับคณะกรรมการฯก่อนในหลักการว่าจะมอบสถานที่ศาลากลางหลังเก่าให้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้หรือไม่ และจะมอบให้เทศบาลนครลำปางได้ดูแลพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เทศบาลมีพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการ รวมทั้งทางด้านสถานที่และงบประมาณก็พร้อมแล้วเช่นกัน

ล่าสุดทางหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ได้ติดตามข่าวการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ทราบว่า นายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เซ็นอนุมัติมอบพื้นที่อาคารศาลากลางหลังเก่าให้เทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดูแลและดำเนินการแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงขึ้นอยู่กับเทศบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามไปยังนายนิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ซึ่งนายนิมิตร กล่าวสั้นๆว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร จะต้องรอให้ อบจ.ย้ายสำนักงานก่อนจึงจะเข้าไปดำเนินการได้ ตนไม่อยากให้มองเป็นเรื่องของความขัดแย้งกัน ไม่ได้แจ้งให้ อบจ.ทราบ ไม่อยากให้มองว่าเป็นการกดดันให้เขาย้ายออก ในเรื่องการก่อสร้างนี้คงจะต้องใช้เวลาปรึกษาพูดคุยกันอีกนาน ทั้งในเรื่องการศึกษาเรื่องราว รูปแบบต่างๆ ที่จะนำมาประกอบในพิพิธภัณฑ์ จึงจะเริ่มดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม ทางด้านแหล่งข่าวของ อบจ.ลำปาง ก็ได้เปิดเผยแล้วว่า อบจ.จะย้ายสำนักงานใหม่ในเดือนตุลาคมนี้ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเทศบาลเข้ามาดูแลพื้นที่ จึงเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องพอดีที่เทศบาลนครลำปางจะเข้ามาดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองลำปางให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นต่อไปควบคู่กับการก่อสร้างตลาดหลักเมืองใหม่ และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบให้เสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน
.................
มีอีกข่าวนึงเคียงกันมาครับ

อบจ.เตรียมขึ้นบ้านใหม่ ได้ฤกษ์เดือนตุลาคม
เผยย้ายเพราะเวลาอันสมควร ปฏิเสธไม่เกี่ยวเรื่องเทศบาลนครลำปางเข้าครองพื้นที่ เตรียมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง

หลังจากที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้ทำการก่อสร้างที่ทำการใหม่บนเนื้อที่ราชพัสดุ ถนนสายลำปาง-กรุงเทพฯ อำเภอเกาะคา จำนวน 166 ไร่ 82 ตารางวา เนื่องจากที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางในปัจจุบันมีพื้นที่คับแคบประกอบกับอาคารที่ทำการมีขนาดเล็ก จึงไม่สะดวกในการติดต่อประสานงานมากนัก โดยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 ที่ผ่านมา นางสุนี สมมี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางได้เซ็นสัญญากู้เงิน จำนวน 120 ล้าน จากธนาคารกรุงไทย จำกัด มหาชน สาขาลำปาง เพื่อมาสมทบกับงบประมาณจากส่วนอื่นที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการอาคารสำนักงานหลังใหม่นี้ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง 319,482,000 ล้านบาท

โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางหลังใหม่จากหลายส่วนด้วยกันประกอบด้วย องค์การบริหารจังหวัดลำปางได้กู้เงินจากธนาคารกรุงไทยจำกัด มหาชน สาขาลำปาง จำนวนเงิน 120 ล้านบาท เงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง จำนวน 1.9 ล้านบาท เงินกู้ กสอ. จำนวน 40 ล้านบาท เงินอุดหนุนจากรมส่งเสริมส่วนท้องถิ่นอีก 6 ล้านบาท จากนั้นเดือนตุลาคม 2548 ได้มีการประมูลการก่อสร้างครั้งนี้ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็จะพยายามเร่งดำเนินการในการก่อสร้างให้เสร็จประมาณกลางปี 2552 นี้

จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ทราบว่า ขณะนี้ตัวอาคารสำนักงานใหม่ของ อบจ.ลำปาง ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการตกแต่งภายใน การเก็บรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น รวมทั้งเรื่องระบบโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตยังไม่สมบูรณ์เช่นกัน ต้องรอทางบริษัทที่ประมูลได้เข้ามาจัดการติดตั้งให้ ส่วนระบบไฟฟ้านั้นเรียบร้อยหมดแล้ว นอกจากนั้นจะมีในส่วนของการก่อสร้างลานจอดรถ รั้วรอบสำนักงานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะมีผู้รับเหมาคนละบริษัท โดยจะให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไปเรื่อยๆ ซึ่งการทำงานต้องอยู่ในระยะเวลาตามสัญญาที่กำหนดไว้อยู่แล้ว
สำหรับเรื่องการย้ายสำนักงานนั้น นางสุนี สมมี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งได้ฤกษ์กำหนดย้ายเข้าสำนักงานใหม่ในวันที่ 22 ต.ค.52 นี้ ในส่วนของพิธีเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการนั้นยังไม่ทราบจะใช้ฤกษ์ในวันเดียวกันหรือไม่ ยังจะต้องรอดูเวลาใกล้ๆอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อสอบถามว่าการย้ายสำนักงานใหม่ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เกี่ยวข้องกับการที่จังหวัดได้มอบพื้นที่ของศาลากลางเก่า ซึ่ง อบจ.ลำปางขอใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวอยู่ ให้กับเทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดูแลเพื่อจะเข้ามาจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ใช่หรือไม่ ทางด้านแหล่งข่าวได้กล่าวว่า เรื่องที่จังหวัดมอบพื้นที่อาคารศาลากลางเก่าให้กับเทศบาลเข้ามาดูแลนั้น อบจ.ยังไม่ทราบเรื่อง แต่เหตุผลที่จะย้ายสำนักงานนั้น ทางท่านนายก อบจ. ได้เห็นว่าตามระยะเวลาเห็นควรแล้วที่จะย้ายได้แล้ว เพราะสำนักงานใหม่ก็สร้างเสร็จเรียบร้อย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเข้ามาดูแลของเทศบาลแต่อย่างใด ในส่วนของอาคารศาลากลางหลังเก่าก็จะส่งคืนให้จังหวัด สำหรับอาคารศาลาประชาคมหรืออาคารอื่นๆ ที่เป็นทรัพย์สินของ อบจ. ยังจะต้องใช้เป็นสถานที่เก็บของอยู่ในระหว่างที่ย้ายออกไป หากย้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจจะเปิดให้ผู้ต้องการมาขอใช้พื้นที่เข้ามาขอใช้ได้

สำหรับอาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ภายในจะประกอบด้วย ศูนย์เครื่องมือกล , บ้านพักข้าราชการและหัวหน้าฝ่ายบริหาร , ลานจอดรถ , การจัดภูมิทัศน์ภายในพื้นที่ , ท้องฟ้าจำลอง , ศูนย์แสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่บนพื้นที่ราชพัสดุ จะป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นให้มีการขยายตัวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง เนื่องจากว่ามีการก่อสร้างท้องฟ้าจำลองและอาคารแสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์อีกด้วย
.................
สายสืบหอศิลป์
อาทิตย์ 5
กรกฎา 52

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Muse Mobile นิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ จาก มิวเซียมสยาม มาลำปางแน่ สิงหาคม-กันยายนศกนี้

ภาพบริเวณทางเข้านิทรรศการ Muse Mobile

ผังการจัดงานเืบื้องต้น

รูปด้านข้างของการจัดนิทรรศการ

ตู้ที่ 1 "เราคือใคร" Thai DNA

ตู้ที่2 ปริศนาสุวรรณภูมิ "ไขปริศนา คนไทยมาจากไหน"
ตู้ที่3 สยามเก่า-ใหม่ "ทางแพร่งความเป็นไทย"

ตู้ที่4 "ประเทศไทย" ความหลากหลายที่ไม่หยุดนิ่ง

ตู้ที่4 "ประเทศไทย" ความหลากหลายที่ไม่หยุดนิ่ง
ภาพและข้อมูลมา ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ของมิวเซียมสยาม

ข่าวที่เคยแจ้งไว้ว่าลำปางจะได้เงินกว่า 150 ล้านบาทเพื่อใ้ช้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของลำปาง ได้เข้ามาใกล้ความเป็นจริงมาทุกขณะ เมื่อสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้มี โครงการจัดทำนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ (Muse Mobile) ระยะที่ 1 โดยเลือกลำปางเป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรก ที่จะเริ่มจัดแสดงในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ คาดหมายว่าคงจะเป็นบริเวณสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา เทศบาลนครลำปาง ในช่วงเวลาดังกล่าวก็คงจะเป็นการเปิดตัวโครงการที่มิวเซียมสยามจะผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางอย่างเป็นทางการไปในตัว

ภาพด้านบนเป็นภาพร่างของบรรยากาศในการจัดนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ จาก มิวเซียมสยาม ที่มีชื่อเรียกง่ายๆว่า Muse Mobile หรือพิพิธภัณฑ์ติดล้อ

รายละเอียดของโครงการสรุปย่อได้ดังนี้
...................
โครงการจัดทำนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ (Muse Mobile) ระยะที่ 1
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

หลักการและเหตุผล
ด้วยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) อันเป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
(องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต้นแบบเพื่อเป็นแหล่งเรียน
รู้รูปแบบใหม่ที่จะบ่มเพาะเด็กและเยาวชนไทยให้เป็นผู้ใฝ่รู้ อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ
ไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

สถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ 1 หรือ มิวเซียมสยาม และได้เปิดให้บริการความรู้สู่สาธารณะ
อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา โดยผลตอบรับจากการเปิดดำเนินการที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 11
เดือนนั้นเป็นที่น่าพอใจ มีผู้เข้าชมมิวเซียมสยามมากกว่า 200,000 คน โดยหากแยกเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เด็กและเยาวชน จะมี
จำนวนกว่า 1.2 แสน คิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด จากการศึกษาข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพบว่าเด็กและเยาวชนดัง
กล่าวส่วนใหญ่มาจากพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ดังนั้นเพื่อให้พื้นที่แห่งการเรียนรู้ ในรูปแบบของนิทรรศการและกิจกรรมที่มีความทันสมัย สามารถรองรับการเรียนรู้ได้อย่าง
สนุกสนานและเพลิดเพลิน ตามแนวคิดและปรัชญาของสถาบันฯ ได้เผยแพร่ออกสู่ทุกภูมิภาค และมุ่งตรงเข้าหาเด็ก เยาวชน รวมทั้งประชาชน
ทั่วไป สถาบันฯ จึงได้ดำเนินการโครงการจัดทำนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ระยะที่ 1 หรือ Muse Mobile ขึ้นเพื่อ
เป็นการนำร่องการสัญจรของพื้นที่ใหม่แห่งการเรียนรู้สู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

ด้วยหวังว่าการสัญจรของนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ Muse Mobile ดังกล่าวจะเป็นต้นแบบของการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ใหม่ที่เคลื่อนที่ให้เกิดในสังคมไทย อันจะนำมาซึ่ง
การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้เนื้อหาในการนำเสนอผ่านนิทรรศการและกิจกรรม
การเรียนรู้เคลื่อนที่ดังกล่าวจะอยู่ในหัวข้อ “เรียงความประเทศไทย” เช่นเดียวกับ นิทรรศการถาวร มิวเซียมสยาม เพื่อเป็นการบอกเล่าเรื่อง
ราวความเป็นมาของประเทศไทยและคนไทยให้กับผู้คนทั้งประเทศ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงประเด็นดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง

วัตถุประสงค์
1.เพื่อนำเสนอแนวคิดและปรัชญาของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ประชาสัมพันธ์และสื่อสารผ่านชุดนิทรรศการและกิจกรรมการ
เรียนรู้เคลื่อนที่สัญจรสู่เด็กและเยาวชน
2.เพื่อเปิดเวทีและพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย ได้ทั้งสาระและความเพลิดเพลินสู่ภูมิภาค อันเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้
ให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ห่างไกล
3.เพื่อบ่มเพาะคนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้ใฝ่รู้ สร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเพื่อเสริมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่ง
การเรียนรู้
4.เพื่อนำเรื่องราวและประเด็นสำคัญของ ชุดนิทรรศการถาวรเรียงความประเทศไทย มานำเสนอเป็นองค์ความรู้สำคัญของชาติ เพื่อสร้างแนว
คิดและมุมมองต่อคนไทยและประเทศไทยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี บนหลักการของเหตุและผล และความดีงาม อันจะนำมาสู่
ความรักและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

กลุ่มเป้าหมาย
1.กลุ่มเป้าหมายหลัก เด็กและเยาวชนไทย
2.กลุ่มเป้าหมายรอง ประชาชนทั่วไป

แนวคิดในการจัดทำนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ (Muse Mobile)
1.แปลก ใหม่ ทันสมัย ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
2.ประกอบด้วย ชุดนิทรรศการและกิจกรรมประกอบเพื่อการเรียนรู้ในเชิง Hands-on และInteractive อย่างครบถ้วน
สมบูรณ์
3.เคลื่อนย้ายได้สะดวก บนพื้นฐานความประหยัด
4.บริหารจัดการได้ภายใต้กำลังคนและงบประมาณที่เหมาะสม
5.สามารถติดตั้งได้ในทุกพื้นที่
6.ใช้สถาปัตยกรรม ตู้คอนเทนเนอร์และสถาปัตยกรรมเต็นท์เป็นรูปแบบและแนวทางหลักในการออกแบบจัดทำเพื่อเน้นความเป็น
Landmark ของจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.ได้ชุดนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ (Muse Mobile) ระยะที่ 1 ในหัวข้อ “เรียงความประเทศไทย” สัญจร
ที่สอดคล้องกับแนวคิดการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ สนุกสนาน รื่นรมย์และสร้างสรรค์ของสถาบันฯ
2.นิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ “เรียงความประเทศไทย” สัญจร จะเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่แนวคิดและปรัชญา
ของสถาบันฯ และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้โดยปลุกกระแส Muse Mobile ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ
3.บุคลากรของสถาบันฯ ได้รับความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ในการพัฒนาเนื้อหา ออกแบบ จัดซื้อ จัดหาและก่อสร้างนิทรรศการ
และกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่จากการทำงานร่วมกันกับที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่หลากหลาย ในลักษณะของ On The Job
Training
4.สามารถบ่มเพาะให้คนไทยทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเป็นผู้ใหญ่ที่ใฝ่รู้ อันจะนำมาสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างสังคมแห่งการ
เรียนรู้ มีความเข้าใจถึงความหลากหลาย การหลอมรวมและมีสำนึกถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในภูมิภาคสุวรรณภูมิแห่งนี้
...................
สายสืบหอศิลป์
พฤหัส 18
มิถุนา 52

สภาเทศบาลนครลำปาง อนุมัติเงิน 8 ล้านทำพิพิธภัณฑ์เมืองบริเวณข่วงนคร



ตามที่ได้มีการประชุมสภาเทศบาลนครลำปาง สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2552 มีเรื่องสำคัญที่สภาเทศบาลได้พิจารณา คือ โครงการถนนไร้ฝุ่น และพิพิธภัณฑ์เมืองนครลำปาง

สภาเทศบาลยังได้อนุมัติให้เทศบาล จัดทำพิพิธภัณฑ์นครลำปาง อีก 8 ล้านบาท เพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เก็บเรื่องราว หลักฐาน ความเป็นมาของเทศบาลนครลำปาง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์การก่อตั้งและพัฒนาการของเทศบาล เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ของประชาชน ซึ่งหากไม่ดำเนินการเรื่องนี้ไว้ หลักฐาน เรื่องราวหรือสิ่งที่มีคุณค่าเกี่ยวกับนครลำปางก็จะถูกลืมเลือน คนรุ่นหลังก็จะไม่มีโอกาสได้รับรู้ใดๆเกี่ยวกับเทศบาล ทั้งที่เทศบาลมีความเกี่ยวข้อง เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของประชาชนอย่างมากมาย ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองขึ้นมา เพื่อเก็บหลักฐานและสิ่งสำคัญที่มีคุณค่าของเมืองไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ต่อไป

ข้อมูลจาก

สายสืบหอศิลป์
พฤหัส 18
มิถุนา 52

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บทความพิเศษ : พิพิธภัณฑ์เมืองกลางข่วงนคร การเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของท.นครลำปาง

จาก ลานนาโพสต์ออนไลน์
ฉบับที่ 721 วันที่ 5 - 11 มิถุนายน 2552

http://www.lannapost.net/newsspacial-1.htm

หากกล่าวถึงคำว่าพิพิธภัณฑ์คนไทยอีกหลายคนคงยังไม่ทราบความหมายว่าแท้จริงแล้ว พิพิธภัณฑ์นั้นหมายถึงอะไร สำหรับความหายของพิพิธภัณฑ์ตามที่ สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM (International Council of Museums) ได้ให้คำจำกัดความไว้แล้วว่า “พิพิธภัณฑ์” คือ หน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไร เป็นสถาบันที่ถาวรในการรวบรวม สงวนรักษา ศึกษาวิจัย สื่อสาร และจัดแสดงนิทรรศการ ให้บริการแก่สังคมเพื่อการพัฒนา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการค้นคว้าการศึกษา และความเพลิดเพลิน โดยแสดงหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์และสภาพแวดล้อม สิ่งซึ่งสงวนรักษาและจัดแสดงนั้นไม่ใช่เป็นเพียงวัตถุ แต่ได้รวมถึงสิ่งที่มีชีวิตด้วยโดยรวมไปถึง สวนสัตว์ สวนพฤกษชาติ วนอุทยาน สถานที่สงวนสัตว์น้ำ และสถานที่อันจัดเป็นเขตสงวนอื่นๆ รวมทั้งโบราณสถานและแหล่งอนุสรณ์สถาน ศูนย์วิทยาศาสตร์และท้องฟ้าจำลอง

จะเห็นได้ว่า คำจำกัดความของพิพิธภัณฑ์นั้นกว้างมาก ครอบคลุมทั้งด้านวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์นั้นแบ่งได้หลายแบบและบางแห่งก็จัดได้หลายประเภท เช่น 
1) แบ่งตามการสะสมรวบรวมวัตถุ ( Collection) 
2) แบ่งตามต้นสังกัดหรือการบริหาร เช่น พิพิธภัณฑ์ของรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย 
3) แบ่งตามลักษณะของผู้เข้าชมหรือกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป หรือ
4) แบ่งตามการจัดแสดง เช่น พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ฯลฯ

สำหรับพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แบ่งตามการจัดแสดง และวัตถุประสงค์ที่ใช้ในการจัดแสดง ซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วไปในปัจจุบัน คือ

1.พิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป จะรวบรวมวัตถุทุกประเภท และทุกเรื่องเอาไว้ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แบบแรกก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่องในสมัยต่อมา

2.พิพิธภัณฑสถานศิลปะ จัดแสดงเกี่ยวกับศิลปวัตถุทุกประเภท โดยจะแยกย่อยออกเป็น พิพิธภัณฑสถานศิลปประยุกต์ แสดงวัตถุที่เป็นงานฝีมือ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ หอศิลป์ แสดงงานศิลปะประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม, พิพิธภัณฑสถานศิลปะสมัยใหม่จะคล้ายกับหอศิลป์ แต่จะเป็นศิลปะสมัยใหม่ของศิลปินร่วมสมัยในยุคหลัง, พิพิธภัณฑสถานศิลปะประเภทการแสดง และพิพิธภัณฑสถานศิลปะแรกเริ่ม แสดงงานศิลปะดั้งเดิมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์

3.พิพิธภัณฑสถานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื้อหาหลักคือแสดงวิวัฒนาการความก้าวหน้าของวัตถุที่มนุษย์คิดค้นประดิษฐ์ขึ้น

4.พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา จัดแสดงเรื่องราวของธรรมชาติเกี่ยวกับเรื่องของโลก ทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ และยังรวมไปถึง สวนสัตว์ สวนพฤกษชาติ วนอุทยาน พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ-สัตว์บกด้วย

5.พิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์ แสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แยกย่อยได้เป็นพิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์ แสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเมือง ทหาร สังคม และเศรษฐกิจ, บ้านประวัติศาสตร์ คือการนำเสนอสถานที่ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีชื่อเสียงในอดีต, โบราณสถาน, อนุสาวรีย์ และสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงเมืองประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์โบราณคดี

6.พิพิธภัณฑสถานชาติพันธุ์วิทยาและประเพณีพื้นเมือง แสดงชีวิตความเป็นอยู่ในทางวัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์และชาติพันธุ์ต่างๆ แบ่งออกเป็น พิพิธภัณฑสถานพื้นบ้าน (พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น) โดยจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน และพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง เป็นการจำลองภาพในอดีตด้วยการนำอาคารเก่า หรือจำลองสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มาไว้ในบริเวณเดียวกัน โดยพยายามสร้างสภาพแวดล้อมรวมถึงบรรยากาศให้เหมือนเช่นในอดีต

ในส่วนของจังหวัดเอง เทศบาลนครลำปางได้มีแนวคิดที่จะจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งจะจัดทำออกมาเป็นพิพิธภัณฑ์ผสมผสานระหว่างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวของสถาบันชาติพันธุ์ และเรื่องราวการแสดงศิลปะต่างๆ ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นการเริ่มต้นความฝันของคนลำปางที่จะได้มีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ในเขตเทศบาลนครลำปาง โดยพิพิธภัณฑ์เมือง เทศบาลนครลำปาง จะตั้งอยู่บริเวณข่วงนครห้าแยกหอนาฬิกา มีการจัดแสดงถึงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเทศบาลนครลำปางตั้งแต่ยุคสมัยแรก รวมทั้งนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตเทศบาลนครลำปาง ซึ่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 52 ที่ผ่านมา เทศบาลได้นำญัตติเรื่องขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสมของเทศบาลนครลำปาง เพื่อปรับปรุงภายในอาคารสำนักงานเทศบาลนครลำปางเป็นหอเกียรติยศ เข้าสภาเทศบาลนครลำปางแล้ว จำนวน 8 ล้านบาท โดยได้ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะนำงบประมาณดังกล่าว มาเริ่มใส่เรื่องราวต่างๆลงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

นายนิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวถึงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เมือง เทศบาลนครลำปางว่า ความฝันของคนลำปาง ทั้งกลุ่มภูมิปัญญาชาวบ้าน นักวิชาการ กลุ่มวัฒนธรรม รวมถึงกลุ่มอนุรักษ์นครลำปาง กลุ่มฮอมแฮงแป๋งนครลำปาง เริ่มจะเป็นความจริงมากขึ้น เมื่อนายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้ผลักดันให้มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์เมืองนครลำปางขึ้น โดยใช้อาคารบริเวณข่วงนคร โดยที่นำเสนอญัตติขอจ่ายเงินสะสมจำนวน 8 ล้านบาท เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองนครลำปาง ซึ่งเป็นแนวนโยบายของตนที่จะส่งเสริมและสร้างสรรค์คุณค่าของมรดกวัฒนธรรมของลำปาง ในฐานะที่ลำปางเป็นเมืองเก่า และมีร่องรอยของอดีตที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด รัฐบาลเคยประกาศให้จังหวัดลำปางเป็น 1 ใน 10 ของจังหวัดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศไทย 

โดยที่โครงการพิพิธภัณฑ์นี้ ได้ใช้อาคารส่วนหน้าของเทศบาลที่เป็นส่วนหนึ่งของข่วงนคร ซึ่งเป็นสำนักงานทะเบียนเก่าที่กำลังจะได้รับการตกแต่งปรับปรุงภูมิทัศน์รูปแบบของอาคารใหม่ ให้เป็นรูปแบบอาคารสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ให้เป็นอาคารที่สง่างาม โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ 2 ชั้น และจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีในการเล่าเรื่อง รวมทั้งมีเทคนิคสมัยใหม่ต่างๆในการนำเสนอเรื่องราวที่สนุกสนานแปลกหูแปลกตา เต็มไปด้วยสาระข้อมูลที่มีชีวิตชีวา ไม่เหมือนกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆที่มีเพียงสิ่งของวางตั้งไว้ และมีเพียงข้อความให้ผู้คนได้อ่านและเดินดู 

แต่พิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างขึ้นนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตชีวา ใช้สื่อผสมผสานหลากหลายเมื่อเข้าไปชมแล้วจะได้เพลิดเพลิน สามารถเรียนรู้ได้ถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา ตลอดจนวัฒนธรรมของบ้านเมืองลำปาง ตั้งแต่สมัยเขลางค์นครยุคที่ 1 ยุคจามเทวี ยุคที่ 2 ยุคปงสนุก ยุคที่ 3 ยุครัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ตลอดถึงเรื่องราวการจัดตั้งเทศบาล ความเป็นมาต่างๆ 

นอกจากนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีส่วนที่จะจัดให้มีการแสดงของดีเมืองลำปาง หรือเรียกว่าพิพิธภัณฑ์หมุนเวียน เช่น มีการจัดแสดงของโบราณวัตถุของลำปางต่างๆ การจัดแสดงประเพณีวัฒนธรรม จัดแสดงเซรามิก จัดแสดงงานศิลปะ จัดแสดงงานไม้ฯลฯ เป็นระยะหมุนเวียนกันตลอดปี ในส่วนนี้จะทำให้เกิดความเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ทำให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้ามาศึกษาหาความรู้เรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนครลำปาง อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับผู้คนชาวลำปางที่จะได้รู้รากเหง้า และสิ่งดีๆที่มีอยู่ในนครลำปาง และจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดลำปางมากขึ้น

สำหรับความคืบหน้าของพิพิธภัณฑ์เทศบาลนครลำปางขณะนี้สภาเทศบาลได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณจำนวน 8 ล้านบาทแล้ว หลังจากนี้จะได้มีการคัดเลือกหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในการจัดทำพิพิธภัณฑ์มาเป็นที่ปรึกษา เขียนโครง ศึกษาหาข้อมูลต่างๆ เพราะการจัดทำตรงนี้ต้องการจะได้คนที่มีความรู้และมีประสบการณ์ทางด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งในกรอบเวลาคาดว่ารวมเบ็ดเสร็จภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 53 จะเสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ในเดือนมีนาคม 53 นี้ นายนิมิตร กล่าว

และนอกจากนายกเทศมนตรีนครลำปาง จะได้ผลักดันให้มีพิพิธภัณฑ์เมืองของเทศบาลนครลำปางแล้ว เทศบาลนครลำปางยังได้มีการผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดลำปางต้องการจะให้เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งนายนิมิตร ได้กล่าวว่า ขณะเดียวกันสิ่งที่ทางภาคประชาชนต่างๆ รวมทั้งภาควิชาการและภูมิปัญญาได้รณรงค์ให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรม และได้มีการทำกิจกรรมมาบ่อยครั้งและอย่างต่อเนื่องที่บริเวณศาลากลางหลังเก่า และต้องการอาคารในที่บริเวณนั้นให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้มีความพยายามมาอย่างต่อเนื่อง 

เช่นเดียวกันกับเทศบาลนครลำปางที่เคยได้ประสานงานกับภาคเอกชน และจังหวัดลำปาง โดยนายกเทศมนตรีนครลำปางได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางสมัย นายอมรทัต นิรัติศยกุล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อจะขอรับพื้นที่อาคารศาลากลางหลังเก่ารวมทั้งบริเวณที่ตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้แก่ ศาลหลักเมือง พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ(หลวงพ่อดำ) มาอยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาล 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะใช้อาคารศาลากลางหลังเก่ามาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์กลาง เพื่อจัดรวมเรื่องราวของจังหวัดลำปางทั้งหมด ตั้งแต่สมัยหลายหมื่นพันปี เช่น มนุษย์เกาะคา ภาพเขียนสีประตูผาฯลฯ รวมทั้งเพื่อจะปรับภูมิทัศน์ใหม่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นศูนย์กลางของเมืองที่เป็นความเจริญรุ่งเรืองของเทศบาลนครลำปาง แต่ปัจจุบันได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปหมดแล้ว ทั้งตลาดเทศบาล ปัญหานก และต้นไม้บริเวณนั้นก็เสื่อมสภาพไปหมด ความสง่างามของกลางเมืองก็ขาดหายไป 

จึงอยากจะมีการจัดระเบียบและปรับปรุงให้สวยงาม เพื่อสอดคล้องกับตลาดเทศบาลที่จะสร้างใหม่เป็นแนวเดียวกัน จะได้กลายเป็นจัตุรัสเมืองที่มีความสง่างาม ความคึกคัก และเป็นศูนย์กลางของประชาชนที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอย แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากจังหวัด จนกระทั่งเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นนายดิเรก ก้อนกลีบ จึงได้นำเรื่องนี้กลับมาคุยกันอีกครั้ง แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ผู้ว่าฯดิเรกก็ย้ายไปอยู่ จ.ลำพูน โดยมีนายอมรพันธุ์ นิมานันท์ มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางต่อ และก็ได้มีการคุยถึงเรื่องนี้ แต่ผู้ว่าฯอมรพันธุ์ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ จ.เชียงใหม่อีก

จนในที่สุดน่าจะเป็นข่าวดีของคนลำปางว่าสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน โดยพลเรือเอกธนิต กิตติอำพล เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้เคยมาที่จังหวัดลำปางหลายครั้งและเคยคุยกับคนลำปางเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ตรงนี้ จึงได้มีความคิดเห็นว่าที่จังหวัดลำปางก็มีความเหมาะสมที่จะจัดทำพิพิธภัณฑ์ระดับมาตรฐานขึ้นมาเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ได้ สถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ จึงได้ทำโครงการเข้าเสนอรัฐบาลว่าจะจัดทำพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ขึ้นที่จังหวัดลำปาง 

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาพลเรือเอกธนิต ได้เดินทางมาที่เทศบาลนครลำปาง เพื่อปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าว และได้เข้าพบกับนายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อที่จะแจ้งให้ทราบว่าสถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ ได้รับอนุมัติโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่จังหวัดลำปางในวงเงิน 155 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเร็วๆนี้ 

การที่มาพบกับรองผู้ว่าฯในครั้งนี้ เพื่อเป็นการขอทราบความแน่ชัดว่าจังหวัดจะมอบพื้นที่บริเวณศาลากลางหลังเก่าให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หรือไม่ ซึ่งหลังจากพูดคุยปรึกษากันแล้ว รองผู้ว่าฯได้เห็นด้วยในหลักการและจะนำเข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง ในหลักการว่าจะมอบสถานที่ศาลากลางหลังเก่าให้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้หรือไม่ และหลักการว่าจะมอบให้เทศบาลนครลำปางได้ดูแลพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ จะต้องมีการพูดคุยกับคณะกรรมการฯ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ซึ่งขณะนี้มีพร้อมทั้งสถานที่และงบประมาณแล้ว ถ้าหากพูดคุยตกลงกันได้ก็พร้อมที่จะสร้างได้ในทันที

สำหรับเรื่องราวที่จะบอกกล่าวอยู่ในพิพิธภัณฑ็นั้น สถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ จะต้องเข้ามาในพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โบราณคดี ข้อมูลจากภูมิปัญญาผู้เฒ่าผู้แก่ การบอกเล่าหรือการค้นคว้าทางวิชาชน ซึ่งลำปางมีเรื่องราวมากมายที่จะนำเสนอ ไม่ใช่เฉพาะในเขตเทศบาลนครลำปาง แต่จะเกี่ยวเนื่องไปในทุกๆ 13 อำเภอทั่วจังหวัดลำปาง นายนิมิตร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งสะสมความรู้ และมีบทบาทหน้าที่ ที่ต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงาน องค์กรและสถาบันมากมาย อีกทั้งตัวของพิพิธภัณฑ์เองยังมีหน้าที่สะสมศิลปวัตถุ และจัดแสดงเผยแพร่แก่ประชาชนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ต่างๆ จึงจำเป็นต้องจัดทำโครงการเพื่อการศึกษาต่างๆ พร้อมทั้งต้องหาทุนเพื่อมาใช้จ่ายภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้จังหวัดลำปางมีงบประมาณที่รองรับในการก่อสร้างแล้วจำนวน 155 ล้าน จากสถาบันพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ 

ทั้งนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือและแรงผลักดันของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันทำให้พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของจังหวัดลำปางเกิดขึ้น โดยอนุรักษ์และพัฒนาอาคารศาลาว่าการจังหวัดลำปางเดิม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปของ "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" ที่จะให้ทั้งสาระความรู้และความสนุกสนานเพลิดเพลิน ภายใต้เนื้อหาของคนและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น หากโครงการดำเนินไปอย่างราบรื่น คาดว่า "พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้" แห่งใหม่นี้ จะแล้วเสร็จในปี 2553 ทั้งนี้ คงจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของชาวลำปางไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ก่อนที่คนลำปางจะได้เชยชมกับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง คนลำปางก็ยังมีโอกาสที่จะได้ชื่นชมกับพิพิธภัณฑ์เมือง เทศบาลนครลำปางก่อนได้ในประมาณเดือนมีนาคม 2553 นี้ ซึ่งจะเป็นแหล่งการศึกษาหาความรู้อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง
..................
สายสืบหอศิลป์
เสาร์ 6
มิถุนา 52

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

รู้จักโคตรเหง้าและเจ้าลำปาง : เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ใหม่ที่โรงเรียนลำปางกัลยาณี


ป้ายทางเข้า ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของตึกที่อยู่ขวามือสนามฟุตบอล

เริ่มนิทรรศการด้วยภาพเขียนสีประตูผา และประวัิติย่อเมืองลำปาง

ประวัติ-ความหลังของโรงเรียน จำลองบรรยากาศเก่าๆที่เริ่มเปิดสอน ใช้ลังสบู่เป็นโต๊ะเรียน

ห้องนี้อุทิศให้พระยาพรหมโวหาร กวีลำปางแต่ไปดังที่เชียงใหม่


ห้องที่สาม เจ้าพระยาหอคำดวงทิพย์ ที่อ.มงคลเล่าว่า เป็นเจ้าลำปางหนึ่งเดียวที่มีสถานะเป็นกษัตริย์(King) ประเทศราช ไม่ใช่เพียงเจ้าเมือง (Prince) เหมือนองค์อื่นๆ และด้านซ้ายมือคือหอคำนครลำปางจำลอง


ห้องที่สี่รวมเจ้านายลำปาง สายเจ้าเจ็ดตน จำลองด้วยภาพวาดในจินตนาการของศิลปิน


เครื่องราชูปโภคที่อ้างอิงจากธรรมเนียมกรุงรัตนโกสินทร์ อ.มงคลเล่าว่า ต้องไปให้กรมศิลปากรช่วยออกแบบให้ เพื่อความถูกต้องตามแบบแผน (สังเกตฉัตร 3 ชั้น)


รายชื่อผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการโครงการ ชื่อ โครงการจัดสร้างอนุสรณ์สถานคุณครูแคลระ รัตนศาสตร์อนุสรณ์ และพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาโรงเรียนลำปางกัลยาณี (2550-2551) ซึ่งงบประมาณได้รับการบริจาคโดย คณะครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ศิษย์เก่า โรงเรียนลำปางกัลยาณี หน่วยงานภาครัฐและเกชน เจ้านายฝ่ายเหนือราชสกุล "ณ ลำปาง" และ "ณ เชียงใหม่" จำนวนทั้งสิ้น 3,923,776 บาท


เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภา ได้รับโอกาสจากอาจารย์มงคล ถูกนึก อดีตอาจารย์โรงเรียนลำปางกัลยาณีได้นำชมพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา โรงเรียนลำปางกัลยาณี ที่ได้นำเสนอเรื่องราวผ่านห้องต่างๆ อาจแบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้

ห้องแรก เริ่มต้นเกริ่นภาพรวมประวัติศาสตร์ลำปาง และการก่อกำเนิดของโรงเรียนลำปางกัลยาณี และครูแคลระ
ห้องที่ 2 อุทิศให้พระยาพรหมโวหาร
ห้องที่ 3 เกี่ยวกับพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ และหอคำนครลำปาง
ห้องที่ 4 รวมเจ้านายลำปาง ในตระกูลเจ้าเจ็ดตน

เนื้อหาหลักจะรวมศูนย์กลางอยู่ที่เจ้านายสายลำปางเป็นหลัก อาจนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นฟื้นฟูกระแส "เจ้านาย" ลำปางขึ้นอย่างมีพลังอีกครั้งในทศวรรษ 2550 นี้ หลังจากที่บทบาทและสถานะของเจ้านายลำปางตกต่ำมาตลอดหลังจากเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตพิราลัยเป็นต้นมา

พิพิธภัณฑ์นี้ยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่น่าสนใจมากที่ได้รวบรวมทุน และจัดสร้างขึ้นมาอย่างพากเพียรโดยอ.มงคล ถูกนึก (ที่ปัจจุบันเกษียณราชการไปแล้ว) ความตื่นตาตื่นใจของข้อมูลและเรื่องราวที่เราไม่อาจรู้อาจเห็นง่ายๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมถึงความพยายามมานับทศวรรษ

ผู้สื่อข่าว 
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 30
พฤษภา 52

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ไอซีดี มีดี นิทรรศการออกแบบนิพนธ์ ครั้งที่ 1 ม.ธรรมศาสตร์ลำปาง

“ไอซีดี มีดี” ผลงานออกแบบนิพนธ์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2552

การแสดงแฟชั่นโชว์ภายในงาน

คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบหัตถอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง 
ได้เปิดตัวแสดงนิทรรศกาลผลงานออกแบบนิพนธ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่องานครั้งนี้ว่า
“ไอซีดี มีดี” งานจัดตั้งแต่วันที่ 3-7 เมษายน 2552 ณ ตึกหม่องหง่วยสิ่น(กาดกองต้า) 
ซึ่งในงานมีการจัดแสดงผลงานออกแบบของนักศึกษาที่แปลกใหม่เน้นให้เห็นคุณค่าของการใช้วัสดุที่สร้างสรรค์ได้อย่างลงตัว 
ในงานยังมีการเดินแบบโชว์ผลงานของนักศึกษาศิลปกรรมศาสตร์ สาขา พัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 
และการแสดงของนักศึกษาอีกมากมาย 


โคมไฟ ผลงานของนักศึกษา จัดแสดง ณ อาคารหม่องหง่วยสิ่น กาดกองต้า นครลำปาง



















การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอผลงานออกแบบนิพนธ์ของนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบหัตถอุตสาหกรรม 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ประจำปีการศึกษา 2552 ต่อสาธารณชนและเป็นการประชาสัมพันธ์หลักสูตรและการเรียนการสอนของ 
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบหัตถอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย 
โดยในงานมีผู้เข้าร่วมชมผลงานกันเป็นจำนวนมาก
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก LampangStep โลกไซเบอร์ของคนลำปาง


สายสืบหอศิลป์
เสาร์ 10
พฤษภา 52

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

แนะนำศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค อ.งาว ลำปางเรานี่เอง


บริเวณศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค


บริเวณศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค


เครื่องฉายหนังเก่าที่ยังฉายได้ และจอหนัง


จากคำบรรยายคุณหน่อผุด
"พี่มานิตย์กำลังสาธิตวิธีใส่ฟิล์ม 35 มม. และเปิดเครื่อง...เสียงสายพานดัง คิดถึงข้าวโพดคั่วขึ้นมาตะหงิดๆ แกทำไปเล่าไปว่า สมัยก่อนบางทีเครื่องมันร้อน สายพานไหม้ จะเห็นแสงวาบของฟิล์มไหม้ทางหน้าจอ คนดูโห่กันเกรียว(พอนึกภาพออกอยู่ค่ะก็ดิฉันคอหนังกลางแปลง)"


เนื่องมาจากการจัดงาน "แอ่วขัวหลวงรัษฎา...เมื่อคราศิลปะผลิบาน" 28-29 มีนาคมนี้ ทำให้ได้ค้นพบกลุ่มคนที่ทำงานคลุกคลีกับศิลปะในด้านต่างๆ โดยเฉพาะกรณีนี้คือ คุณมานิตย์ วรฉัตร ที่เป็นผู้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค

เมื่อพิจารณาจากแผ่นพับประชาสัมพันธ์ แสดงจุดประสงค์การจัดตั้งไว้ ดังนี้
1. เพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นฟิล์มภาพยนตร์และเครื่องฉายภาพยนตร์ระบบ 35 ม.ม., 16 ม.ม., 8 ม.ม., ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต
2. เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นบทพากย์ภาพยนตร์ ใบเซนเซอร์ ภาพยนตร์และอุปกรณ์การพากย์ภาพยนตร์ในอดีต
3. เพื่อให้เป็นแหล่งค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จากอดีต-ปัจจุบัน
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กิจการดังกล่าวคนลำปางยังไม่รู้จักกันมากนัก กิจการของคุณมานิตย์ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมใดๆทั้งสิ้น คลังความรู้มหาศาลที่ศูนย์ฯแห่งนี้มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งที่สมควรจะได้รับการเผยแพร่และสนับสนุน

ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค
ตั้งอยู่เลขที่ 24/2 บ้านท่าเจริญ หมู่ที่ 9 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง
สามารถติดต่อได้ที่ 054-365561
.......................
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก คุณมานิตย์ วรฉัตร
และเว็บบล็อกของคุณ "หน่อผุด"
.......................
ประวัติโดยย่อ
คุณมานิตย์ วรฉัตร
-เคยเป็นนักพากย์ภาพยนตร์ประจำบริษัทไกรลาศฟิล์มประจำภาคอิสานและบริษัทเครื่องดื่มโอวัลติน
-เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณาภูมิภาค บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด แผนกภาพยนตร์
-ปัจจุบันเจ้าของ-ผู้จัดการ ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค อ.งาว จ.ลำปาง
ร่วมกับเครือข่าย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สบร.) /หอภาพยนตร์แห่งชาติ / สมาคมนักพากย์แห่งประเทศไทย(Film Versionist Association)
-เป็นวิทยากรพิเศษ รับเชิญจากภาครัฐและภาคเอกชน
.......................
สายสืบหอศิลป์
อาทิตย์ 22
มีนา 52