งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม วันที่ 24-26 ตุลาคม 2546

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ:ก้าวใหม่แห่งการเรียนรู้เมืองลำปาง บทบรรณาธิการ ลานนาโพสต์

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ:ก้าวใหม่แห่งการเรียนรู้เมืองลำปาง
โดย..บรรณาธิการ
http://www.lannapost.net/butkoam725.htm

เห็นข่าวความก้าวหน้าของโครงการ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติที่จะใช้ศาลากลางหลังเก่า ใจกลางเมืองลำปางเป็นสถานที่จัดตั้งแล้วดีใจ ถ้าข้อมูลไม่ผิด ลำปางจะเป็นจังหวัดแรกที่มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติอย่างเป็นทางการ ขณะที่จังหวัดอื่นๆจะอยู่ในฐานะเครือข่ายของสถาบันการเรียนรู้แห่งชาติเท่านั้น

ในการระดมความเห็นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ชาวลำปางคงทราบแล้วว่า สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเป็นองค์กรมีฐานะและการทำงานในรูปแบบ องค์การมหาชน คือได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณจากรัฐหรือรัฐบาล แต่บริหารในรูปแบบพิเศษ และต้องหาทางช่วยเหลือตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดด้วย โดยเป็นการทำงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547

หาความรู้เกี่ยวกับชื่อที่เรียกกันว่าพิพิธภัณฑ์ก่อน ตามเนื้อหามีประมาณ 15 ประเภท เช่นพิพิธภัณฑ์ทาง ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ธรรมชาติวิทยา สื่อสารและคมนาคม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน วิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา ศิลปะ ผ้าไทย เศรษฐกิจ มานุษยวิทยา เป็นต้น

แม้ลำปางเราจะไม่พิพิธภัณฑ์ ในสังกัดกรมศิลปากร แต่เราก็มีพิพิธภัณฑ์อยู่แล้วหลายแบบ เช่นพิพิธภัณฑ์ของวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดปงสนุกเหนือ วัดพระแก้วดอนเต้า วัดไหล่หิน หรือวัดอื่นๆอีกมากมายหลายวัด หรือแม้แต่บ้านเสานัก ก็น่าจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์รูปแบบหนึ่งได้ ถ้าหากมีการจัดเนื้อหาให้เป็นระบบมากขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นเน้นแต่สิ่งของ แต่ไม่ได้เน้นการเรียนรู้ เนื้อหาจึงมีค่อนข้างน้อย และที่สำคัญมากที่สุดคือ หลายแห่งมีป้าย มีสิ่งของเก่าๆ แต่ปิดไม่ได้ให้เข้าชม มีหรือไม่มีพิพิธภัณฑ์ จึงไม่แตกต่างกัน

แล้วพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่จะมีขึ้นในลำปางน่าจะเป็นอย่างไร

เปรียบเทียบกัน มิวเซียมสยาม หรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งใช้วิธีปรับปรุงอาคารเก่าของกระทรวงพานิชย์เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย มีการออกแบบนิทรรศการ เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้อันรื่นรมย์สำหรับเยาวชน ประชาชนทั่วไป รวมถึงชาวต่างประเทศ ในเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของคนไทยและดินแดนอุษาคเนย์ นิทรรศการที่ว่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอเรื่องราวด้วยวิธีการต่างๆ ตัวอย่างในลำปางที่คล้ายๆกันคือ พิพิธภัณฑ์ ลิกไนต์ของเหมืองแม่เมาะนั่นเอง

สำหรับ พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ เขากำหนดตัวเองว่า เป็น Discovery Museum เป็นพิพิธภัณฑสถานแนวใหม่ในยุคแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ เน้นกระตุกต่อมคิด จุดประกายความอยากรู้สู่การค้นพบความคิดใหม่ๆ ด้วยตนเองตลอดเวลาอย่างไม่รู้ตัว เพื่อการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ

พร้อมกันนี้ก็จะมีแนวทางให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ [ Play + Learn = เพลิน] สร้างสำนึกรักและเข้าใจผู้คน บ้านเมือง รู้จักเพื่อนบ้าน รวมถึงการสร้างแนวคิดและภาพลักษณ์ใหม่ของ “พิพิธภัณฑ์” ในสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติยังมีบทบาทในการสร้าง สนับสนุน และร่วมมือเป็นเครือข่ายกับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐานกระบวนการเรียนรู้ และการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯคือการใช้ พื้นที่เกือบ 3,000 ตารางเมตรในอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร “เรียงความประเทศไทย” เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องอันยาวนาน ผู้ชมจะได้ เรียน เล่น รู้ กับปริศนาหลายหมื่นหลายพันปีของสุวรรณภูมิ มูลเหตุสู่ยุคทองของสยามประเทศ และเงื่อนปมก่อนจะมาเป็นประเทศไทยอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อค้นหาคำตอบสำคัญว่า “เราคือใคร” และ “ความเป็นไทยหมายถึงอะไร”

เห็นภาพของส่วนกลางแล้วบอกตามตรงว่า “ฝันไกล” เลยละครับ

ในส่วนของจังหวัดลำปาง ถือว่าเป็นที่โชคดีที่มีภาคเอกชนคอยผลักดันเต็มที่โดยการประสานงานกับ พลเรือเอกธนิต กิตติอำพล เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ โดยตรงและเกือบจะไม่ได้ ตั้งเพราะมีปัญหาเรื่องความเข้าใจของข้าราชการบางคน แต่สุดท้ายก็มีความก้าวหน้ามาได้ โดยล่าสุดคือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง สามารถ ลอยฟ้า ยืนยันว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เซ็นอนุมัติให้เทศบาลเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ ศาลากลางหลังเก่า ซึ่งก็หมายถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เทศบาลนครลำปางจะเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการดำเนินงานต่อไปแล้ว

ถึงเวลานั้น เยาวชนลำปาง คงจะไม่รู้จักบุคลในประวัติศาสตร์ลำปางเพียง พระนางจามเทวี เจ้าอนัตยศ เจ้าทิพย์ช้าง และเจ้าบุญวาทย์
หลายคนอาจบอกว่า โครงการลำปางอาจจะเล็กไม่ได้ตามที่หวัง แต่ถ้าดูตามงบประมาณ ที่กรุงเทพฯใช้งบประมาณในการปรับปรุง 135 ล้านบาท ส่วนที่จังหวัดลำปาง เป็นโครงการในวงเงินงบประมาณ 155 ล้านบาท

ทั้งหมดคงจะเริ่มเห็นภาพเมื่อ อบจ.ย้ายที่ทำงานไปที่ อ.เกาะคา ประมาณเดือนตุลาคม และในเวลาใกล้ๆกันโครงการก่อสร้างตลาดหลักเมืองจะเริ่มขึ้นและน่าจะเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน

อยากเห็นโฉมหน้าเมืองลำปางตอนนั้นจริงๆครับ.....
.....................
สายสืบหอศิลป์
พุธ 8
กรกฎา 52

ไม่มีความคิดเห็น: