งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม วันที่ 24-26 ตุลาคม 2546

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อสังเกตจาก หนังสือขอรับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณในการจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง"

ได้รับสำเนาหนังสือ ที่ ลป 0031/2060 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์รับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณใน
การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง
ที่ลงนามโดยนายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และลงท้ายด้วยช่องทางการติดต่อ
กับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง

หนังสือฉบับนี้ มีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการก็คือ
1) การเรียกใช้ชื่อ "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง" ไม่ทราบว่าได้นำชื่อพิพิธภัณฑ์นี้มาจากที่ใด เนื่องจากหากเท้าความถึงเรื่องเดิมแล้ว ในกรณีของการดำเนินการเกี่ยวกับศาลาจังหวัดหลังเก่า จะรู้จักกันในนาม "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" ดังที่มีปรากฏอยู่ใน หนังสือที่ ลป 0016.3/2363 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 ลงนามโดยนายอมรทัต นิรัตศยกุล
2) โครงการจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง" คืออะไร มาจากไหน ใครเป็นคนจัดทำ
3) อำนาจในการดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนั้น ตามข่าวจะเห็นว่าจังหวัดได้มอบหมายให้เทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบอาคารสถานที่ แต่เหตุไฉนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง จึงเป็นผู้ดูแลเรื่องการรับบริจาควัตถุโบราณ โดยที่ยังมิได้มีการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าภาพ มิพักที่จะต้องพูดถึงการแจ้งข่าวต่อที่ประชุม และที่สาธารณะ

การดำเนินการร่วมกันในหลายฝ่าย ล้วนเป็นความความตั้งใจที่ดี แต่หากมิได้รับการประสานงานและทำความเข้าใจต่อกันอย่างเพียงพอแล้ว อาจทำให้การดำเนินประสบปัญหาอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ดังนั้น ความตั้งใจของบทความนี้ก็เพื่อทบทวนจุดยืนดังกล่าว

ด้านล่างนี้คือ เนื้อความในจดหมาย


ที่ ลป 0031/2060
ศาลากลางจังหวัดลำปาง
ถนนวชิราวุธดำเนิน ตำบลพระบาท
อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000

15 มิถุนายน 2552

เรื่อง ขอความอนุเคราะห์รับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโราณในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง

เรียน ...

สิ่งที่ส่งมาด้วย โครงการจัดตั้งพิพิธภัณพ์พื้นบ้านนครลำปางฯ พร้อมแบบตอบรับการบริจาค จำนวน 1 ชุด

เนื่องด้วยจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีภูมิประวัติอันยาวนาน ประมาณ 1,329 ปี บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างศิลปะ สืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีหลักฐานที่เป็นแหล่งโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ตลอด จนมีสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมาย กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคล ผู้เป็นปราชญ์ท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่างๆ อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดลำปาง มีจำนวนมากมาย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้มุ่งเน้นให้ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้มีการศึกษาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน โดยนำ ภูมิปัญญาและจารีตประเพณีมาประกอบการดำเนินชีวิตและครอบครัวให้มีความสุขอย่างพอเพียง อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป

ดังนั้นจังหวัดลำปางเห็นว่าศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิมของจังหวัดลำปางสามารถใช้เป็นที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปาง ยังผลต่อการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต สังคมและเศรษฐกิจทั้งระดับ ท้องถิ่นและระดับชาติโดยรวมของจังหวัดได้ แต่เนื่องด้วยอาคารดังกล่าวควรมีการปรับปรุงสภาพให้เหมาะสมกับการจัดแสดงนิทรรศการถาวรในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์และการจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจังหวัดได้มีการจัดประชุมคณะทำงานฯขึ้นแล้วหลายครั้ง

ความก้าวหน้าในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนนครลำปาง คือ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และคณะทำงาน ได้ทำโครงการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล โดยงบประมาณผ่านไปแล้วร้อยละ 90 เพื่อให้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปางเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งฯ จังหวัดลำปางจึงขอความอนุเคราะห์จากท่านรับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณ (อาทิเช่น เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า เครื่องประดับ วัตถุประกอบการทำอาหาร เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องมือในการประกอบอาชีพ รูปภาพ เป็นต้น)สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปางและเพื่อทราบถึงประวัติความเป็นมาอันยาวนานของจังหวัดลำปางที่บรรพบุรุษได้สั่งสมไว้ให้ต่อไปถึงรุ่นลูกหลานในอนาคต

จังหวัดลำปางจึงขอความอนุเคราะห์จากท่านเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณดังกล่าวสำหรับนำไป ดูแล รักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง
โดยขอความกรุณาจากท่านกรอกแบบแสดงความประสงค์ในการบริจาคตามแบบฟอร์ที่แนบมาพร้อมนี้ ส่งคืนให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง 409 ถนนพระเจ้าทันใจ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000 เบอร์โทรศัพท์ 054-228763 โทรสาร 054-228762 เพื่อจัดทำทำเนียบผู้บริจาคฯ ส่วนสิ่งของวัตถุโบราณจะขอรับต่อเมื่อได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว

จึงเรียนมาเพื่อให้ความอนุเคราะห์รับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณดังกล่าวต่อไป ขอบุญบารมีที่ท่านได้กระทำให้แก่จังหวัดลำปางในครั้งนี้จงส่งผลให้ท่านและครอบครัวของท่านประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไปด้วยเทอญ

ขอแสดงความนับถือ

(นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์)
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด
กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
โทร 0 5422 8763
โทรสาร 0 5422
8762

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้คัดลอกแบบฟอร์มการตอบรับเป็นเจ้าภาพมาให้ดูกันด้วย

แบบตอบรับเป็นเจ้าภาพบริจาควัตถุโบราณสำหรับจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
******************
ข้าพเจ้า
นาย/นาง/น.ส........................นามสกุล..................................
ตำแหน่งหน้าที่การงาน......................................................
ที่อยู่.........................................................................
.........................................................................
.........................................................................
เบอร์โทรศัพท์
.........................................................................
โทรศัพท์มือถือ
.........................................................................
มีความประสงค์เป็นเจ้าภาพรับบริจาควัตถุโบราณเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนครลำปาง
(ศาลากลางจังหวัดหลังเดิม) จำนวน.......................รายการ ดังนี้
1..........................................................................
2.........................................................................
3.........................................................................
4.........................................................................
5.........................................................................
6.........................................................................
7.........................................................................
8.........................................................................
9.........................................................................
10.........................................................................
ลงชื่อ
.........................................................................
(.........................................................................)
ผู้บริจาควัตถุโบราณ
วันที่............เดือน............................พ.ศ......................

..........................
สายสืบหอศิลป์
พุธ 8
กรกฎา 52

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ:ก้าวใหม่แห่งการเรียนรู้เมืองลำปาง บทบรรณาธิการ ลานนาโพสต์

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ:ก้าวใหม่แห่งการเรียนรู้เมืองลำปาง
โดย..บรรณาธิการ
http://www.lannapost.net/butkoam725.htm

เห็นข่าวความก้าวหน้าของโครงการ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติที่จะใช้ศาลากลางหลังเก่า ใจกลางเมืองลำปางเป็นสถานที่จัดตั้งแล้วดีใจ ถ้าข้อมูลไม่ผิด ลำปางจะเป็นจังหวัดแรกที่มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติอย่างเป็นทางการ ขณะที่จังหวัดอื่นๆจะอยู่ในฐานะเครือข่ายของสถาบันการเรียนรู้แห่งชาติเท่านั้น

ในการระดมความเห็นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ชาวลำปางคงทราบแล้วว่า สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเป็นองค์กรมีฐานะและการทำงานในรูปแบบ องค์การมหาชน คือได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณจากรัฐหรือรัฐบาล แต่บริหารในรูปแบบพิเศษ และต้องหาทางช่วยเหลือตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดด้วย โดยเป็นการทำงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547

หาความรู้เกี่ยวกับชื่อที่เรียกกันว่าพิพิธภัณฑ์ก่อน ตามเนื้อหามีประมาณ 15 ประเภท เช่นพิพิธภัณฑ์ทาง ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ธรรมชาติวิทยา สื่อสารและคมนาคม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน วิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา ศิลปะ ผ้าไทย เศรษฐกิจ มานุษยวิทยา เป็นต้น

แม้ลำปางเราจะไม่พิพิธภัณฑ์ ในสังกัดกรมศิลปากร แต่เราก็มีพิพิธภัณฑ์อยู่แล้วหลายแบบ เช่นพิพิธภัณฑ์ของวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดปงสนุกเหนือ วัดพระแก้วดอนเต้า วัดไหล่หิน หรือวัดอื่นๆอีกมากมายหลายวัด หรือแม้แต่บ้านเสานัก ก็น่าจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์รูปแบบหนึ่งได้ ถ้าหากมีการจัดเนื้อหาให้เป็นระบบมากขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นเน้นแต่สิ่งของ แต่ไม่ได้เน้นการเรียนรู้ เนื้อหาจึงมีค่อนข้างน้อย และที่สำคัญมากที่สุดคือ หลายแห่งมีป้าย มีสิ่งของเก่าๆ แต่ปิดไม่ได้ให้เข้าชม มีหรือไม่มีพิพิธภัณฑ์ จึงไม่แตกต่างกัน

แล้วพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่จะมีขึ้นในลำปางน่าจะเป็นอย่างไร

เปรียบเทียบกัน มิวเซียมสยาม หรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งใช้วิธีปรับปรุงอาคารเก่าของกระทรวงพานิชย์เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย มีการออกแบบนิทรรศการ เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้อันรื่นรมย์สำหรับเยาวชน ประชาชนทั่วไป รวมถึงชาวต่างประเทศ ในเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของคนไทยและดินแดนอุษาคเนย์ นิทรรศการที่ว่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอเรื่องราวด้วยวิธีการต่างๆ ตัวอย่างในลำปางที่คล้ายๆกันคือ พิพิธภัณฑ์ ลิกไนต์ของเหมืองแม่เมาะนั่นเอง

สำหรับ พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ เขากำหนดตัวเองว่า เป็น Discovery Museum เป็นพิพิธภัณฑสถานแนวใหม่ในยุคแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ เน้นกระตุกต่อมคิด จุดประกายความอยากรู้สู่การค้นพบความคิดใหม่ๆ ด้วยตนเองตลอดเวลาอย่างไม่รู้ตัว เพื่อการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ

พร้อมกันนี้ก็จะมีแนวทางให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ [ Play + Learn = เพลิน] สร้างสำนึกรักและเข้าใจผู้คน บ้านเมือง รู้จักเพื่อนบ้าน รวมถึงการสร้างแนวคิดและภาพลักษณ์ใหม่ของ “พิพิธภัณฑ์” ในสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติยังมีบทบาทในการสร้าง สนับสนุน และร่วมมือเป็นเครือข่ายกับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐานกระบวนการเรียนรู้ และการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯคือการใช้ พื้นที่เกือบ 3,000 ตารางเมตรในอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร “เรียงความประเทศไทย” เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องอันยาวนาน ผู้ชมจะได้ เรียน เล่น รู้ กับปริศนาหลายหมื่นหลายพันปีของสุวรรณภูมิ มูลเหตุสู่ยุคทองของสยามประเทศ และเงื่อนปมก่อนจะมาเป็นประเทศไทยอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อค้นหาคำตอบสำคัญว่า “เราคือใคร” และ “ความเป็นไทยหมายถึงอะไร”

เห็นภาพของส่วนกลางแล้วบอกตามตรงว่า “ฝันไกล” เลยละครับ

ในส่วนของจังหวัดลำปาง ถือว่าเป็นที่โชคดีที่มีภาคเอกชนคอยผลักดันเต็มที่โดยการประสานงานกับ พลเรือเอกธนิต กิตติอำพล เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ โดยตรงและเกือบจะไม่ได้ ตั้งเพราะมีปัญหาเรื่องความเข้าใจของข้าราชการบางคน แต่สุดท้ายก็มีความก้าวหน้ามาได้ โดยล่าสุดคือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง สามารถ ลอยฟ้า ยืนยันว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เซ็นอนุมัติให้เทศบาลเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ ศาลากลางหลังเก่า ซึ่งก็หมายถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เทศบาลนครลำปางจะเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการดำเนินงานต่อไปแล้ว

ถึงเวลานั้น เยาวชนลำปาง คงจะไม่รู้จักบุคลในประวัติศาสตร์ลำปางเพียง พระนางจามเทวี เจ้าอนัตยศ เจ้าทิพย์ช้าง และเจ้าบุญวาทย์
หลายคนอาจบอกว่า โครงการลำปางอาจจะเล็กไม่ได้ตามที่หวัง แต่ถ้าดูตามงบประมาณ ที่กรุงเทพฯใช้งบประมาณในการปรับปรุง 135 ล้านบาท ส่วนที่จังหวัดลำปาง เป็นโครงการในวงเงินงบประมาณ 155 ล้านบาท

ทั้งหมดคงจะเริ่มเห็นภาพเมื่อ อบจ.ย้ายที่ทำงานไปที่ อ.เกาะคา ประมาณเดือนตุลาคม และในเวลาใกล้ๆกันโครงการก่อสร้างตลาดหลักเมืองจะเริ่มขึ้นและน่าจะเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน

อยากเห็นโฉมหน้าเมืองลำปางตอนนั้นจริงๆครับ.....
.....................
สายสืบหอศิลป์
พุธ 8
กรกฎา 52

พิพิธภัณฑ์ลำปางเสร็จสมบูรณ์เปิดปี 56 : ลานนาโพสต์เกาะติดสถานการณ์

พิพิธภัณฑ์ลำปางเสร็จสมบูรณ์เปิดปี 56
http://www.lannapost.net/news725.htm

สถาบันพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ แจงแผนการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ลำปาง ภายใน 3 ปีต้องเสร็จ เชื่อลำปางมีความพร้อมที่สุด อีกทั้งสถานที่จัดสร้างยังเป็นอยู่ในชัยภูมิที่ดี เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ลำปางหลายสมัย

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.52 หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการจัดประชุม เพื่อชี้แจงและร่วมหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปางขึ้นที่ห้องประชุม 5 ธันวา เทศบาลนครลำปาง โดยมีนายสุรพล ตันสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์และกิจกรรมสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ “มิวเซียมสยาม” นายภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อดีตผู้ประสานงานหลักโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง(ล้านคำลำปาง) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 50 คน เข้าร่วมประชุมหลังจากที่จังหวัดลำปางได้มอบพื้นที่ศาลากลางหลังเก่าให้กับเทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดูแล เพื่อจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง โดยได้รับอนุมัติงบประมาณในการจัดสร้างจำนวน 155 ล้านบาท

ในที่ประชุม นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์และกิจกรรมสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้กล่าวถึงแผนการดำเนินโครงการและการจัดตั้งงบประมาณไว้ว่า สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) ได้มีโครงการส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นและภูมิภาค 7 จังหวัด คือ ลำพูน ลำปาง ลพบุรี พิจิตร นครราชสีมา จันทบุรี และภูเก็ต

ซึ่งตนเชื่อว่าจังหวัดลำปางมีศักยภาพและมีความพร้อมที่สุดใน 7 แห่ง โดยการดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง ได้วางแผนไว้ว่าจะดำเนินการภายใน 3 ปี คือ ปี 2553-2555 เนื่องจากเกรงว่าถ้านานกว่านั้นงบประมาณอาจถูกตัดไป จึงต้องทำให้เสร็จทันในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีแผนการใช้งบประมาณจะแยกเป็น 4 ไตรมาส

ในปีแรก 2553 จะใช้งบประมาณจำนวน 5 ล้านบาท เกี่ยวกับงานศึกษาวิจัย จัดทำแผนการบริการจัดการแบบมีส่วนร่วม , ศึกษาพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการเรียนรู้ ,งานขุดค้นทางโบราณคดี และการจัดทำแผนแม่ทบในการพัฒนา

ปี 2554 ใช้งบประมาณจำนวน 65 ล้านบาท โดยเป็นแผนงานการออกแบบปรับปรุงอาคารและภูมิทัศน์ , จัดทำบทนิทรรศการ ,ออกแบบนิทรรศการและสถาปัตย์ภายใน , งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารและภูมิทัศน์ และงานออกแบบและก่อสร้างนิทรรศการและสถาปัตย์ภายใน

และสุดท้ายปี 2555 ใช้งบประมาณ 85 ล้านบาท ในการก่อสร้าง จัดทำนิทรรศการถาวร และสถาปัตย์ภายในทั้งหมด โดยในส่วนนี้จะแยกงบประมาณออกมาจำนวน 5 ล้านบาท เพื่อทดลองจัดทำนิทรรศการหมุนเวียนและกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อรองรับการเปิดดำเนินการพิพิธภัณฑ์อย่างถาวร ในปี 2556

นอกจากนั้นอาจจะมีการจัดสร้างอาคารต้อนรับทางด้านหน้าตึก และมีอาคารหอประชุมใหญ่ทางด้านหลังด้วย ซึ่งแผนการใช้งบประมาณส่วนนี้สถาบันพิพิธภัณฑ์ได้วางไว้คร่าวๆ หากมีคำแนะนำอื่นๆ อาจจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านนายภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อดีตผู้ประสานงานหลักโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง(ล้านคำลำปาง) กล่าวว่า การดำเนินการขับเคลื่อนการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ หรือหอศิลป์เมืองลำปาง เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 นับได้ว่าเป็นปีที่ 6 แล้วในการดำเนินการ และในปีนี้ได้มีความพร้อมทั้งสถานที่ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและงบประมาณ ขณะเดียวกันเทศบาลนครลำปางก็รับเป็นเจ้าภาพในการดูแลจัดการพื้นที่

สำหรับอาคารศาลากลางเก่ามีประวัติศาสตร์มากมาย เช่น เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว บริเวณนี้ได้เป็นหอคำคุ้มหลวงของจังหวัดลำปาง ต่อมาเมื่อสมัยปฏิรูปรัชกาลที่ 5 ได้จัดสร้างเป็นศาลากลางจังหวัดลำปาง เมื่อศาลากลางจังหวัดย้ายไปที่แห่งใหม่ ก็กลายมาเป็น ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง จนปัจจุบัน อบจ.ได้ขอใช้พื้นที่จัดตั้งเป็นสำนักงานชั่วคราว นอกจากนั้นพื้นที่บริเวณนี้ยังได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานต่างๆด้วย เช่น การจัดงานฮอมแฮง แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) การเรียนการสอนสืบสานซึงสะล้อที่หอศิลป์ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ งานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโคมศรีล้านนา เป็นต้น จึงเป็นที่น่ายินดีของชาวลำปางที่จะมีพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เกิดขึ้นจากที่รอคอยมานาน เพื่อเป็นประโยชน์กับลูกหลานในอนาคต
....................
สายสืบหอศิลป์
พุธ 8
กรกฎา 52

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑ์ฉลุย เทศบาลรับมอบศาลากลางเก่า : ข่าวจากลานนาโพสต์



เชิญอ่านครับ

พิพิธภัณฑ์ฉลุย เทศบาลรับมอบศาลากลางเก่า
เดินหน้าลุยพิพิธภัณฑ์ลำปาง จังหวัดเซ็นอนุมัติมอบอาคารศาลากลางเก่าให้เทศบาลจัดการ

ความคืบหน้าการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง เผยแพร่บทความหลังจากที่ทุกภาคส่วนได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ อมรทัต นิรัติศยกุล จนมาถึงผู้ว่าฯ ดิเรก ก้อนกลีบ ซึ่งมีท่าทีว่าจะพิพิธภัณฑ์จะเกิดขึ้นได้เพราะทางผู้ว่าฯดิเรกก็เห็นชอบในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ต้องย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเสียก่อน โดยมาต่อช่วงของผู้ว่าฯอมรพันธ์ นิมานันท์ ซึ่งไม่ทันไรก็ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ความหวังจึงเริ่มริบหรี่ลง

แต่ก็ยังเป็นที่โชคดีของจังหวัดลำปาง ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน โดยพลเรือเอกธนิต กิตติอำพล เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้เคยมาที่จังหวัดลำปางหลายครั้งและเคยคุยกับคนลำปางเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นี้ จึงมีความคิดเห็นว่าที่จังหวัดลำปางก็มีความเหมาะสมที่จะจัดทำพิพิธภัณฑ์ระดับมาตรฐานขึ้นมาเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ได้ สถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ จึงได้ทำโครงการเข้าเสนอรัฐบาลว่าจะจัดทำพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ขึ้นที่จังหวัดลำปาง โดยพลเรือเอกธนิต ได้เดินทางมาที่เทศบาลนครลำปาง เพื่อปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าว และได้เข้าพบกับนายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อที่จะแจ้งให้ทราบว่าสถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ ได้รับอนุมัติโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่จังหวัดลำปางในวงเงิน 155 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเร็วๆนี้

ซึ่งนายนิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้กล่าวว่า เรื่องที่ยังติดขัดอยู่ก็คือจังหวัดยังไม่ได้มีการมอบพื้นที่อาคารศาลากลางหลังเก่าให้กับเทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดำเนินการ จึงยังไม่สามารถทำอะไรได้ จะต้องรอนายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ประชุมพูดคุยกับคณะกรรมการฯก่อนในหลักการว่าจะมอบสถานที่ศาลากลางหลังเก่าให้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้หรือไม่ และจะมอบให้เทศบาลนครลำปางได้ดูแลพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เทศบาลมีพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการ รวมทั้งทางด้านสถานที่และงบประมาณก็พร้อมแล้วเช่นกัน

ล่าสุดทางหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ได้ติดตามข่าวการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ทราบว่า นายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เซ็นอนุมัติมอบพื้นที่อาคารศาลากลางหลังเก่าให้เทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดูแลและดำเนินการแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงขึ้นอยู่กับเทศบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามไปยังนายนิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ซึ่งนายนิมิตร กล่าวสั้นๆว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร จะต้องรอให้ อบจ.ย้ายสำนักงานก่อนจึงจะเข้าไปดำเนินการได้ ตนไม่อยากให้มองเป็นเรื่องของความขัดแย้งกัน ไม่ได้แจ้งให้ อบจ.ทราบ ไม่อยากให้มองว่าเป็นการกดดันให้เขาย้ายออก ในเรื่องการก่อสร้างนี้คงจะต้องใช้เวลาปรึกษาพูดคุยกันอีกนาน ทั้งในเรื่องการศึกษาเรื่องราว รูปแบบต่างๆ ที่จะนำมาประกอบในพิพิธภัณฑ์ จึงจะเริ่มดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม ทางด้านแหล่งข่าวของ อบจ.ลำปาง ก็ได้เปิดเผยแล้วว่า อบจ.จะย้ายสำนักงานใหม่ในเดือนตุลาคมนี้ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเทศบาลเข้ามาดูแลพื้นที่ จึงเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องพอดีที่เทศบาลนครลำปางจะเข้ามาดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองลำปางให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นต่อไปควบคู่กับการก่อสร้างตลาดหลักเมืองใหม่ และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบให้เสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน
.................
มีอีกข่าวนึงเคียงกันมาครับ

อบจ.เตรียมขึ้นบ้านใหม่ ได้ฤกษ์เดือนตุลาคม
เผยย้ายเพราะเวลาอันสมควร ปฏิเสธไม่เกี่ยวเรื่องเทศบาลนครลำปางเข้าครองพื้นที่ เตรียมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง

หลังจากที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้ทำการก่อสร้างที่ทำการใหม่บนเนื้อที่ราชพัสดุ ถนนสายลำปาง-กรุงเทพฯ อำเภอเกาะคา จำนวน 166 ไร่ 82 ตารางวา เนื่องจากที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางในปัจจุบันมีพื้นที่คับแคบประกอบกับอาคารที่ทำการมีขนาดเล็ก จึงไม่สะดวกในการติดต่อประสานงานมากนัก โดยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 ที่ผ่านมา นางสุนี สมมี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางได้เซ็นสัญญากู้เงิน จำนวน 120 ล้าน จากธนาคารกรุงไทย จำกัด มหาชน สาขาลำปาง เพื่อมาสมทบกับงบประมาณจากส่วนอื่นที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการอาคารสำนักงานหลังใหม่นี้ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง 319,482,000 ล้านบาท

โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางหลังใหม่จากหลายส่วนด้วยกันประกอบด้วย องค์การบริหารจังหวัดลำปางได้กู้เงินจากธนาคารกรุงไทยจำกัด มหาชน สาขาลำปาง จำนวนเงิน 120 ล้านบาท เงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง จำนวน 1.9 ล้านบาท เงินกู้ กสอ. จำนวน 40 ล้านบาท เงินอุดหนุนจากรมส่งเสริมส่วนท้องถิ่นอีก 6 ล้านบาท จากนั้นเดือนตุลาคม 2548 ได้มีการประมูลการก่อสร้างครั้งนี้ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็จะพยายามเร่งดำเนินการในการก่อสร้างให้เสร็จประมาณกลางปี 2552 นี้

จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ทราบว่า ขณะนี้ตัวอาคารสำนักงานใหม่ของ อบจ.ลำปาง ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการตกแต่งภายใน การเก็บรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น รวมทั้งเรื่องระบบโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตยังไม่สมบูรณ์เช่นกัน ต้องรอทางบริษัทที่ประมูลได้เข้ามาจัดการติดตั้งให้ ส่วนระบบไฟฟ้านั้นเรียบร้อยหมดแล้ว นอกจากนั้นจะมีในส่วนของการก่อสร้างลานจอดรถ รั้วรอบสำนักงานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะมีผู้รับเหมาคนละบริษัท โดยจะให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไปเรื่อยๆ ซึ่งการทำงานต้องอยู่ในระยะเวลาตามสัญญาที่กำหนดไว้อยู่แล้ว
สำหรับเรื่องการย้ายสำนักงานนั้น นางสุนี สมมี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งได้ฤกษ์กำหนดย้ายเข้าสำนักงานใหม่ในวันที่ 22 ต.ค.52 นี้ ในส่วนของพิธีเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการนั้นยังไม่ทราบจะใช้ฤกษ์ในวันเดียวกันหรือไม่ ยังจะต้องรอดูเวลาใกล้ๆอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อสอบถามว่าการย้ายสำนักงานใหม่ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เกี่ยวข้องกับการที่จังหวัดได้มอบพื้นที่ของศาลากลางเก่า ซึ่ง อบจ.ลำปางขอใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวอยู่ ให้กับเทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดูแลเพื่อจะเข้ามาจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ใช่หรือไม่ ทางด้านแหล่งข่าวได้กล่าวว่า เรื่องที่จังหวัดมอบพื้นที่อาคารศาลากลางเก่าให้กับเทศบาลเข้ามาดูแลนั้น อบจ.ยังไม่ทราบเรื่อง แต่เหตุผลที่จะย้ายสำนักงานนั้น ทางท่านนายก อบจ. ได้เห็นว่าตามระยะเวลาเห็นควรแล้วที่จะย้ายได้แล้ว เพราะสำนักงานใหม่ก็สร้างเสร็จเรียบร้อย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเข้ามาดูแลของเทศบาลแต่อย่างใด ในส่วนของอาคารศาลากลางหลังเก่าก็จะส่งคืนให้จังหวัด สำหรับอาคารศาลาประชาคมหรืออาคารอื่นๆ ที่เป็นทรัพย์สินของ อบจ. ยังจะต้องใช้เป็นสถานที่เก็บของอยู่ในระหว่างที่ย้ายออกไป หากย้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจจะเปิดให้ผู้ต้องการมาขอใช้พื้นที่เข้ามาขอใช้ได้

สำหรับอาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ภายในจะประกอบด้วย ศูนย์เครื่องมือกล , บ้านพักข้าราชการและหัวหน้าฝ่ายบริหาร , ลานจอดรถ , การจัดภูมิทัศน์ภายในพื้นที่ , ท้องฟ้าจำลอง , ศูนย์แสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่บนพื้นที่ราชพัสดุ จะป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นให้มีการขยายตัวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง เนื่องจากว่ามีการก่อสร้างท้องฟ้าจำลองและอาคารแสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์อีกด้วย
.................
สายสืบหอศิลป์
อาทิตย์ 5
กรกฎา 52