งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม วันที่ 24-26 ตุลาคม 2546

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 2551งานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นระดับชาติ 3-5 พฤศจิกานี้


โปสเตอร์งาน เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
ที่มา : http://www.sac.or.th/


“ฟังเรื่องเล่า ฟื้นความหลัง สร้างพลังท้องถิ่น ”
ที่มา : http://www3.sac.or.th/lmf2008/?p=161

คุณเคยเก็บสะสมของบางอย่าง เพราะความรัก ความผูกพันกับของเหล่านั้นมั้ย?
คุณเคยเก็บรักษาของบางอย่าง เพราะชวนให้ระลึกถึงผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว หรือคนที่คุณรักมั้ย?
คุณเคยเสาะแสวงหาของบางอย่าง เพราะความแปลกตา สวยงาม หรือเพราะเรื่องราวจากข้าวของนั้นมั้ย?
ถ้าคำตอบของคุณ คือ เคย เราอยากให้คุณลองมาชม มาฟังเรื่องเล่าจากพิพิธภัณฑ์ใน


เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 2551
ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ฟังเรื่องเล่า
- รู้จักชุมชน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การตั้งถิ่นฐาน การกินการอยู่ การละเล่น รู้จักเขารู้จักเรา จากปากคำของเจ้าของวัฒนธรรมฟื้นความหลัง
- ดูข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือดักสัตว์ เครื่องมือทำนา ของเล่น งานศิลปะ ของจากโลกอดีต ของใหม่ในท้องถิ่น ฯลฯ ที่หาดูได้ยาก หรือคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักแล้ว สร้างพลังท้องถิ่น
- แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ร่วมให้กำลังใจชาวชุมชนที่กำลังดูแลรักษาและพัฒนาวัฒนธรรมของตนให้งอกงาม

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ของการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้พบปะพิพิธภัณฑ์มากมายในหลายเวทีท้องถิ่น และตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเวทีสาธารณะ

จึงเห็นควรริเริ่มจัดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (Local Museum Festival)
ในระหว่างวันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2551 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ

เพื่อเป็นเวทีกลางให้สมาชิกเครือข่ายได้สานสัมพันธ์ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างชุมชนคนทำงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดเวทีวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งวงเสวนา-เล่าเรื่องประสาคนท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของวัฒนธรรม
ด้านล่างคือรายละเอียดของงาน
..................
A : ความเป็นมาของงานเทศกาลฯ

หลักการและเหตุผล
โครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
ได้พัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ตั้งแต่โครงการระยะที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2547 ทั้งนี้ ความสำคัญของเวทีการพบปะระหว่างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “ชุมชนปฏิบัติการ” หรือพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ด้วยเหตุนี้ การสร้างเวทีในการพบปะระหว่างสมาชิกในเครือข่ายสามารถเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาวิชาการพิพิธภัณฑ์ ทั้งเพื่อการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกในเครือข่ายเอง และระหว่างองค์กรภายนอกอื่นๆ ที่เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์

เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะเป็นทั้งรูปแบบของการเปิดเวทีวิชาการ เช่น การนำเสนอผลงานวิจัย การนำเสนอโครงการทางวัฒนธรรมที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน และการอภิปรายประเด็นทางวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเป็นเวทีของการเรียนรู้ตามอัธยาศัย นั่นหมายถึง การตั้งซุ้มแสดงผลงานของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือองค์กรวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมมีโอกาสพูดคุยและซักถามกับผู้ดูแลโครงการนั้นๆ โดยตรง

LMF (Local Museum Festival) จะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี เพื่อให้สมาชิกมีโอกาสในการรวบรวมข้อมูลการทำงานของตนเอง จากนั้น เป็นการพัฒนาและเรียบเรียงข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณชนในลักษณะต่างๆ ทั้งงานเขียน งานนิทรรศการ สื่อการศึกษาประเภทอื่นๆ เวทีของเทศกาลนี้จะส่งเสริมให้สมาชิกในเครือข่ายยังคงมีปฏิสัมพันธ์และพัฒนาต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์

-เพื่อสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ชุมชน และกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
-เพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั่วประเทศ
-เพื่อพัฒนาความรู้ทางวิชาการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
-เพื่อพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการกับพิพิธภัณฑ์และองค์กรทางวัฒนธรรมในต่างประเทศ
..................
B :
กิจกรรมวิชาการ
นอกจากการแสดงนิทรรศการแล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การเสวนาเกี่ยวกับสาระวิชาการทางด้านพิพิธภัณฑ์ในแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลาย โดยเชิญนักวิจัย นักวิชาการทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านมาถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานให้ฟัง ตลอดจนวงเสวนาเรื่องเล่าต่างๆ จากคนท้องถิ่นที่เผยให้เห็นทั้งความเหมือนและความแตกต่างทางวัฒนธรรมกิจกรรมวิชาการเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมได้ ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่ต้องสำรองที่นั่ง

3 พฤศจิกายน

- พิพิธภัณฑ์ไร้กำแพงเมืองจอร์จทาวน์, ปีนัง : พลังชุมชนกับการสร้างตัวตนทางวัฒนธรรม
- พระกับการบริหารพิพิธภัณฑ์ในวัด
- นักวิชาการกับงานสร้างเครือข่ายวัฒนธรรมในท้องถิ่น
- เชิญชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากกลุ่มไทยทรงดำ จ.เพชรบุรี

4 พฤศจิกายน
- ปาฐกถาพิเศษ "ทัศนะ 20 ปี นักวิชาการมองชุมชนท้องถิ่นผ่านงานพิพิธภัณฑ์" โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม - ทำเองได้ง่ายจัง "เล็กๆน้อยๆที่พิพิธภัณฑ์ทำเองได้"
- พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในญี่ปุ่น : เน้นพิพิธภัณฑ์โรคมินามาตะ- ทำอย่างไรให้เด็กสนใจและสนุกกับงานพิพิธภัณฑ์
- การหวนคืนสู่ถิ่นและพัฒนาการของรูปแบบพิพิธภัณฑ์ชนพื้นเมือง กรณีพิพิธภัณฑ์ชุมชนในออสเตรเลีย
- เรื่องเล่าจากสนาม "การออกแบบนิทรรศการที่เจ้าของพิพิธภัณฑ์มีส่วนร่วม"
โดย คุณทรงศักดิ์ แก้วมูล (พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง) คุณวิรัตน์ น้อยประชา (พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม) [ชาวบ้านกับนักออกแบบร่วมกันคิด ร่วมกันจัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ของชุมชน]
- เสวนาหน้าโรง "ความเหมือนที่แตกต่าง : หนังตะลุง หนังใหญ่"
- เชิญชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมหนังตะลุงจาก 2 ศิลปินแห่งชาติ นายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน และนายหนังนครินทร์ ชาทอง

5 พฤศจิกา
- ก้าวไปข้างหน้า พิพิธภัณฑ์กับการตลาดและการสร้างแบรนด์
- ของเก่าฟื้นความหลัง : เคียวกับเรื่องเล่าชีวิตคนทำนา
- ใครก็ทำได้ "การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในงานพิพิธภัณฑ์"
- ทำเองได้ง่ายจัง "นิทรรศการเล่าเรื่องจากภาพถ่าย"
- Are you a keeper? ชมภาพยนตร์ชวนเสวนากับผู้ชม "คนเก็บของเก่าเล่าเรื่องของ สื่อสะท้อนประวัติศาสตร์"

คลิกดูรายละเอียด

..................
C :
นิทรรศการ “คนกับของ”
ชั้น 1 โซน “ของในชีวิต”
สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการดำรงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ของที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไปที่อยู่รอบตัวเราทั้งในบ้าน ใต้ถุน ท้องนา ไร่ สวน สิ่งของเหล่านี้กำลังจะผุกร่อนเสื่อมสลาย หรือเลือนหายไปจากสังคมปัจจุบันอย่างรวดเร็ว

ชั้น 2 โซน “คนกับความรื่นรมย์”
วัตถุสิ่งของที่คนทำขึ้นเพื่อความผ่อนคลาย สนุกสนาน สร้างอารมณ์เบิกบานรื่นรมย์ อาจเป็นมหรสพการแสดง หรืองานศิลปะ ประดิษฐ์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความประณีต น่ารัก หรือสิ่งของประดับตกแต่ง สิ่งของที่มีคุณค่าทางสุนทรีย์ ความสวยงาม

ชั้น 3 โซน “ของในความทรงจำ”
วัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องในเชิงประวัติศาสตร์ หรือความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น พื้นที่ภูมิศาสตร์ รวมทั้งเหตุการณ์ที่สะท้อนภาพในอดีตที่เคยเป็น และสิ่งของที่เคยมีในสังคมชุมชน แสดงถึงความเปลี่ยนแปลง

ชั้น 4 โซน “คนกับความหลากหลาย”
นอกจากสิ่งของต่างๆที่คนคิดผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันแล้ว สิ่งของเหล่านี้ยังแฝงถึงอัตลักษณ์เฉพาะตัวของคนบางกลุ่มที่รับสืบทอดต่อเนื่องกันมา กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างและปรากฏอยู่ทั่วไปในประเทศ แสดงถึงสังคมไทยที่มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรมและประเพณี ความเชื่อ
..................
เสาร์ 25
ตุลา 51

ไม่มีความคิดเห็น: