งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม วันที่ 24-26 ตุลาคม 2546

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551

ความเป็นมาโดยย่อของการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง

(ยังไม่ได้ทำการอ้างอิงและทวนหลักฐานอย่างสมบูรณ์)

1.
ประวัติศาสตร์ของพื้นที่

เดิมพื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเดิมนั้น เป็นอาณาเขตของหอคำ คุ้มหลวง ของเจ้าผู้ครองนครลำปาง นับว่าเป็นศูนย์กลางเมืองรุ่นที่ 3 ที่มีวัดบุญวาทย์ วัดหลวงกลางเวียงเป็นวัดสำคัญ เชื่อกันว่าเป็นย้ายเมืองมาเมื่อสมัยเจ้าคำโสม (พ.ศ.2329-2337) ภายในกำแพงเมืองรุ่นที่3 ยังเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่คือ หออะม็อกและชื่อประตูเมืองต่างๆ เช่น ประตูหัวเวียง ประตูศรีเกิด ประตูชัย ประตูศรีชุม ประตูสวนดอก ประตูเชียงราย ที่น่าสนใจก็คือว่ามีการสร้าง"หอคำนครลำปาง" สมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ (พ.ศ.2337-2368)

2.
พื้นที่ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ

อย่างไรก็ตามยังมีพื้นที่ที่เรียกว่า "คุ้มหลวง" ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย ขณะที่หอคำก็เป็นที่ว่าราชการซึ่งในสมัยปฏิรูปการปกครอง สยามดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ฝ่ายเจ้าผู้ครองนครลำปางก็ต้องยกคุ้มหลวงให้เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการของสยาม และกลายเป็นศาลากลางจังหวัดลำปางในเวลาต่อมา และปรากฏว่า ในปี 2507ก็มีการรื้ออาคารคุ้มหลวงเดิม และสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วเสร็จในปี 2509 ซึ่งในการวางศิลาฤกษ์ในปี 2507 และพิธีเปิดในปี 2509 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธี

3.
การเปลี่ยนแปลงความหมายของพื้นที่
ในที่สุดศาลากลางจังหวัดลำปาง ก็ได้ทำการย้ายไปสู่สถานที่แห่งใหม่ในปี 2542 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ก็ได้เข้ามาใช้พื้นที่สืบต่อ ในฐานะเป็นอาคารชั่วคราวขณะที่รอการดำเนินการก่อสร้างบริเวณ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

4.
แนวคิดหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางก็จะทำการย้ายออกไป ขณะนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช ก็เสนอให้มีการใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็น "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" ก่อนที่จะเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น นายอมรทัต นิรัติศยกุล ที่ส่งมอบพื้นที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ดูแลเพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ในชั้นต้นเมื่อ ปี2547 ตามหนังสือเลขที่ ลป.0016.3/2363 ลงนาม นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547

ช่วงเวลาดังกล่าวได้มีความพยายามจากกลุ่มผู้สนใจทางศิลปวัฒนธรรมในจำนวนหนึ่งที่มุ่งหวังจะผลักดันให้มีการจัดตั้ง "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้การผลักดันดังกล่าวยังรวมไปถึงภาครัฐที่ให้ความสำคัญในการตั้งงบประมาณให้มีการวิจัยอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามถึงปัจจุบัน ลำปางก็ยังไม่สามารถจะจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง หรือในนามของพิพิธภัณฑ์เมืองหรือท้องถิ่นได้ เนื่องจากปัญหาสำคัญที่สุดก็คือการขาดเจ้าภาพจากหน่วยงานรัฐที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลาง หรือส่วนท้องถิ่นเอง

จึงต้องรอคอย และคอยดูกันต่อไป.


ผังสันนิษฐานของการตั้งศูนย์กลางเมืองทั้ง 3 รุ่น โดยจะเห็นว่าได้ทำการย้ายฝั่งแม่น้ำมาสร้างเมืองใหม่ในรุ่นที่ 3
ที่มา : สุกัญญา เอี่ยมชัย วิทยานิพนธ์ "การศึกษาเพื่อเสนอแนวทางอนุรักษ์ชุมชนเมืองลำปาง",2539



ศาลาเค้าสนามหลวง นครลำปาง พื้นที่แห่งการบริหารอำนาจราชการของสยาม
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พระนคร



แผนที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปางพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2478 โดย กองรังวัด แสดงให้เห็นแผนผังของศาลากลางจังหวัดและอาณาบริเวณโดยรอบ จะสังเกตเห็นทิศทางของอาคารที่หันไปยังสถานีตำรวจ ลักษณะของอาคารก็มีการเปิดโล่งพื้นที่ว่างตรงกลาง ลักษณะคล้ายกับศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิมเช่นกัน
ที่มา : เทศบาลนครลำปาง



หน้าปก วารสารนครลำปางสาร ปีที่2 ฉบับที่4 ประจำเดือน เมษายน 2507 แสดงพระราชกรณียกิจเสด็จวางศิลาฤกษ์อาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังใหม่ เมื่อพ.ศ.2507


ภาพบริเวณสนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม ด้านหลังคือวัดบุญวาทย์วิหาร คาดว่าน่าจะเป็นการวางพวงมาลาวันปิยะมหาราช แต่ไม่ทราบปีพ.ศ.แน่ชัด สามารถประมาณได้ว่าหลังพ.ศ.2497 อันเป็นปีที่สร้าง อาคารโรงเรียนปริยัติธรรม(ขวามือของภาพ) และไม่ก่อนปีที่สร้างศาลาบาตรใหม่ (จะสังเกตเห็นศาลาบาตรยังมีหลังคาทรงต่ำอยู่)
ที่มาภาพ : จากหนังสืออนุสรณ์เล่มหนึ่ง(ในเบื้องต้นยังหาชื่อหนังสือไม่ได้)



หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับการปรับปรุงมาจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน คาดว่าชื่อของ"หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" คงมีความเชื่อมโยงจากสถานที่แห่งนี้ ภายในเป็นพื้นที่แสดงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของการสร้างเมืองเชียงใหม่ รวมไปถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ใช้เวลาสร้างตั้งแต่พ.ศ.2536-2545 รวมเวลากว่า 9 ปี

สายสืบหอศิลป์ฯ
อาทิตย์ 28
กันยา 51

ไม่มีความคิดเห็น: