งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม วันที่ 24-26 ตุลาคม 2546

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

อีกหนึ่งความพยายามผลักดัน กับความร่วมมือกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

ความเคลื่อนไหวล่าสุด นอกจากจะมีความสนับสนุนทางด้านวิชาการจากส่วนกลางแล้ว การให้ความสนใจของผู้ใหญ่ในลำปางเองก็กลับมาโฟกัสกับเรื่อง "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" อีกครั้งหนึ่ง ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงการดำเนินการสองหน่วยงานที่คู่ขนานกันไป ส่วนแรกเป็นของ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ที่ได้เริ่มวางแผนงานส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ณ จังหวัดลำปาง ในเบื้องต้นได้กำหนดให้ลำปางอยู่ในส่วนของ "พิพิธภัณฑ์ในอนาคต" และได้มีการจัดทำเว็บเพจรองรับการดำเนินการดังกล่าว ในส่วนที่สองเป็นการดำเนินการในส่วนของจังหวัดลำปางร่วมกับหน่วยงานต่างๆในท้องถิ่นที่จะจัดตั้ง "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง"

1.
โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ณ จังหวัดลำปาง

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมกับ หอการค้าจังหวัดลำปาง กำลังริเริ่มโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ณ จังหวัดลำปาง โดยอนุรักษ์และพัฒนาอาคารศาลาว่าการจังหวัดลำปางเดิม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปของ "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" ที่จะให้ทั้งสาระความรู้และความสนุกสนานเพลิดเพลิน ภายใต้เนื้อหาของคนและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น

หากโครงการดำเนินไปอย่างราบรื่น คาดว่า "พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้" แห่งใหม่นี้ จะแล้วเสร็จในปี 2553 ทั้งนี้ คงจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของชาวลำปางไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่มา : พิพิธภัณฑ์ในอนาคต http://www.ndmi.or.th/2008/museums/future/lampang.html



โฉมหน้าเว็บเพจของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ ลำปาง เป็นพิพิธภัณฑ์ในอนาคต
http://www.ndmi.or.th/2008/museums/future/lampang.html
....................
2.

นอกจากนั้นยังมีจาก ลานนาโพสต์ออนไลน์ ที่รายงานความก้าวหน้าโดยจั่วหัวในเว็บไซต์ไว้ว่า "จัดสร้างหอศิลป์หาเจ้าภาพดูแลงบปี 53"

ลำปางได้ลูกฟลุ๊ค มีแววได้ตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ เร่งหาเจ้าภาพดูแลเพื่อของบให้ทันปี 53
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา จังหวัดลำปาง ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้จัดประชุมคณะกรรมการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางขึ้น โดยมีนายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นประธาน ซึ่งการดำเนินการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมฯ

ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ โดยมีพลเรือเอกธนิฐ กิตติอำพน ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเข้าร่วมประชุมด้วย

นายอนุศิษฐ์ ภูวเศรษฐ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เขต 1 ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้มีการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมในครั้งนี้ว่า จากการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ประจำปี 2551 ครั้งนี้ ได้มีการพูดคุยกับผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติพร้อมคณะ ได้ข้อสรุปว่า

จะจัดตั้งหอศิลปฯที่ตัวอาคารศาลากลางหลังเก่า และต้องดูเรื่องสนามด้านหน้า รวมทั้งศาลาประชาคม และที่จอดรถด้วย ในเรื่องของการทำงานจะประสานกันระหว่างทางจังหวัดกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ โดยจะส่งคนเข้ามาคุย ว่าจะต้องมีการจัดแสดงอะไร และจัดแสดงอย่างไรบ้างในหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ต้องช่วยกันคิดและรวบรวมเขียนเป็น TOR ตามความต้องการของจังหวัด

เมื่อเขียน TOR ลงตัวแล้วจะต้องหาคนที่จะมาแปรความต้องการ และออกแบบออกมาเป็นลักษณะที่จังหวัดต้องการ ซึ่งจังหวัดต้องใช้งบประมาณในการออกแบบเอง เมื่อได้แบบและทราบงบประมาณแล้ว ทางจังหวัดคงจะต้องตั้งงบประมาณขึ้นมาปรับปรุงอาคาร

ส่วนทางสถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ ก็จะต้องทำควบคู่กันไป โดยตั้งงบประมาณเข้ามาดูแลในเรื่องนิทรรศการ ซึ่งงานในตอนนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เรื่องการวางผังและการฟื้นฟูอาคาร อีกส่วนคือการจัดนิทรรศการ ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้แจ้งในที่ประชุมว่าจะได้ประสานไปยัง อบจ.ลำปาง เทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร เพื่อขอให้รับเป็นเจ้าภาพในการดูแลหลังจากที่เสร็จสิ้นแล้วด้วย ซึ่งการเป็นเจ้าภาพ หากออกมาในรูปของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ก็จะหาองค์กรและหน่วยงานต่างๆช่วยกันได้ ซึ่งตนดูแนวโน้มคิดว่าน่าจะเกิดได้แล้ว

ในส่วนของปัญหาการทำงานที่ติดขัดมานานนั้น นายอนุศิษฐ์ กล่าวว่า การเริ่มต้นเริ่มมาหลายปีแล้ว แต่งานค้างอยู่ ในครั้งนี้คิดว่าจะเดินหน้าไปได้ เดิมประสบปัญหาว่า เรารู้ว่าอยากจะให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรม แต่ยังหาเจ้าภาพมาช่วยทำไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ได้สถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ มีเป็นองค์กรที่มีความรู้ด้านนี้เข้ามาช่วยให้คำปรึกษา และเป็นพี่เลี้ยงที่ดี ซึ่งงบประมาณการจัดตั้งหอศิลปฯทั้งหมดคาดว่าจะต้องใช้หลายสิบล้านบาท แต่ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน

ในตอนนี้ต้องหาเจ้าภาพให้ได้ก่อนทันทีที่ทางด้านจังหวัดลำปางได้เจ้าภาพลงตัวเมื่อไร ทางฝ่ายสถาบันฯ ก็พร้อมที่จะเข้ามาทำงานได้เลย เชื่อว่าจะดำเนินการไปได้เร็วพอสมควร เพราะจังหวัดได้เตรียมตัวและหาข้อมูลต่างๆมานานแล้ว โดยทั้งกลุ่มล้านคำลำปาง กลุ่มรักษ์ลำปาง กลุ่มสล่าลำปาง ก็ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงค่อนข้างมีข้อมูลมาก

แต่จะต้องมาคุยกันว่าจะนำอะไรไปไว้ในหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางบ้าง หากสรุปความต้องการได้เสร็จทันเดือนมกราคม 2552 ทางจังหวัดลำปางอาจจะเสนอของบได้ในปีงบประมาณ 2553 ทางสถาบันพิพิธภัณฑ์ก็จะของบในส่วนของนิทรรศการ หากได้รับประมาณในปี 2553 ภายในไม่เกิน 2 ปี คาดว่าคนลำปางจะได้เห็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง นายอนุศิษฐ์ กล่าว.

ที่มา : http://www.lampangpost.com/news/684-6.htm


บรรยากาศการประชุมเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา
....................
กระนั้นก็ดีเรื่อง "ชื่อ" ของสถานที่แห่งนี้ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงว่า ควรจะใช้ในนามใด แต่เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำให้พื้นที่นี้กำเนิด และเติบโตรองรับความเคลื่อนไหวและความเก่าแก่ทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อย่างไรต่างหาก

สายสืบหอศิลป์ฯ
จันทร์ 29
กันยา 51

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551

ทำอะไรกันไปบ้างที่ "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง"?

ที่ผ่านมานั้นได้มีการจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อทดลองใช้สถานที่ในนาม "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" ซึ่งได้รณรงค์ ระดมความร่วมมือกันอย่างมากในช่วงพ.ศ.2546-2549 โดยมีการจัดงานใหญ่ในนาม "ฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์)" สองครั้งในปี 2546 และ2547 เพื่อให้มีลักษณะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องและเทศกาลประจำปี มิเพียงเท่านั้นยังมีกิจกรรมย่อยๆต่างๆที่เข้ามาร่วมกันเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อหอศิลป์ฯ สรุปหยาบๆได้ดังนี้

ประเภทดนตรี
-การสอนดนตรีพื้นเมืองในกิจกรรม "สืบสานซึงสะล้อที่หอศิลป์ฯ" ทุกวันเสาร์-อาทิตย์เวลา 9.00-12.00 น.(ปัจจุบันเหลือเพียงวันเสาร์วันเดียว)เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนกรกฎาคม 2547 จนสามารถตั้งเป็น "ชมรมอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" (ชมรมฮีตละกอน)ได้สำเร็จ
-การแสดงคอนเสิร์ตดนตรีสากลประจำปี ของ ร้านเปียโนสตูดิโอ ที่จัด "แฮปปี้คอนเสิร์ตเดย์" ในปี2546 และ2547

ประเภทศิลปะ
-งานแสดงนิทรรศการศิลปกรรม "กลุ่มสล่าเขลางค์" ในงานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์)ครั้งที่ 1พ.ศ.2546
-งานแสดงนิทรรศการศิลปกรรม "ครูศิลป์ถิ่นล้านนา" ซึ่งเป็นงานระดับภูมิภาคในปี 2548 โดยเครือข่ายครูศิลป์ล้านนา และกลุ่มสล่าเขลางค์
-งานแสดงนิทรรศการศิลปกรรม "แต้มสี ตีเส้น เล่นดิน" โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษา 3 ครั้ง ในปีพ.ศ.2547-2549

ประเภทศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
-กิจกรรมสาธิตงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ การทำกลอง การฉลุลายไม้ การฉลุหยวก การตัดตุง ทำโคม ภายในงานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่2 พ.ศ.2547 โดยวิทยากรท้องถิ่นอาสา
-กิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โคมศรีล้านนา โดย ครอบครัวปินตาสี

ประเภทอดีต ความหลัง ประวัติศาสตร์

-นิทรรศการประวัติศาสตร์ ในงานฮอมแฮงฯครั้งที่ 1 โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
-นิทรรศการประวัติศาสตร์ อ.วังเหนือ ในงานฮอมแฮงฯครั้งที่ 2 โดย พระมหาบุญมี ฐิตธมฺโม แห่งวัดสบลืน อ.วังเหนือ จ.ลำปาง
-งานสัปดาห์เมืองเก่าสัญจร (พ.ศ.2548) โดย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 เทศบาลนครลำปาง และโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง

ประเภทอื่นๆ
-งานแอ่วหอศิลป์กิ๋นข้าวแลง
-งานหมรับ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ (พ.ศ.2547) โดย ชมรมชาวปักษ์ใต้ จ.ลำปาง
-งานโอท็อปแชมเปี้ยนและลำปางแบรนด์ (พ.ศ.2547) โดย สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ลำปาง และสำนักงานพาณิชย์ จ.ลำปาง
-รวมถึงงานจัดเสวนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ครอบครัว พระสงฆ์ ฯลฯ
[ข้อมูลส่วนใหญ่จากเอกสาร "เอกสารประกอบการแถลงข่าว ความเคลื่อนไหว 1ปีฮู้คิงเพื่อหอศิลป์",2548]

เหล่านี้เป็นกิจกรรมเบื้องต้นที่เคยทดลองกันมา แต่อย่างไรก็ตามยังมีกิจกรรมดังกล่าวก็ได้หยุดชะงักลงในปลายปี2549เป็นต้นมา ในทางตรงกันข้ามพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมที่เกิดใหม่อย่าง "กาดกองต้า" ก็ได้รับการตอบรับจากมหาชนชาวลำปางอย่างล้นหลาม เป็นสัญญาณที่ดีถึงอนาคตของแวดวงศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ที่จะต้องบุกเบิกและทำให้มั่นคงต่อไป


การแสดงดนตรีพื้นเมืองของเยาวชน จาก บ้านหม้อ บนเวทีงานฮอมแฮงฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 28-30 พฤษภาคม 2547

ดนตรีสากล "แฮปปี้คอนเสิร์ตเดย์" โดย ร้านเปียโนสตูดิโอ ปี2547

บรรยากาศการพบปะ พูดคุย นั่งชมการแสดง งานฮอมแฮงฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 28-30 พฤษภาคม 2547

อีกมุมหนึ่งบนเวทีในงานฮอมแฮงฯ ครั้งที่2

กิจกรรมสืบสานซึงสะล้อที่หอศิลป์

นิทรรศการศิลปกรรมของกลุ่มสล่าเขลางค์ ในงานฮอมแฮงฯครั้งที่1

ผลงานศิลปกรรมร่วมสม้ยของ นักศึกษาอาชีวศึกษาลำปาง ในนิทรรศการแต้มสี ตีเส้น เล่นดิน

กิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โคมศรีล้านนา

นิทรรศการประวัติศาสตร์นครลำปางและภาพเก่า โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในงานฮอมแฮงฯครั้งที่1

งานสัปดาห์เมืองเก่าสัญจร พ.ศ.2548

ฉากหนังตะลุง ที่นำมาจัดแสดงในงานหมรับ ประเพณีเดือนสิบของชมรมชาวปักษ์ใต้ จ.ลำปาง
สายสืบหอศิลป์ฯ
อาทิตย์ 28
กันยา 51

ข้อมูลเบื้องต้น พื้นที่ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม

ที่ตั้ง
ในบริเวณของศาลากลางจังหวัดหลังเดิมนั้นเป็นที่ดินของราชพัสดุ แปลงหมายเลขที่ ลป.72 ต.หัวเวียง อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง มีพื้นที่จำนวน 19 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา โดยภายในประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ คือ
1) สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด
2) สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
3) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำปาง
4) ศาลหลักเมือง
5) ศาลหลวงพ่อเกษม
6) มณฑปประดิษฐานหลวงพ่อดำ

แต่ในอาณาเขตเดียวกันนั้น ก็ยังมีบริเวณที่สำนักงานอัยการจังหวัดของใช้จำนวน 1ไร่ 8 งาน 77 ตารางวา(ไม่แน่ใจว่า 8 งานหรือ 2งาน เอกสารไม่ชัด) โดยใช้เป็นพื้นที่ต่อไปนี้
1) สำนักงานอัยการจังหวัดลำปาง
2) บ้านพักอัยการจังหวัดลำปาง

ข้อมูลอาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดอาคารเมื่อ 28 มกราคม พ.ศ.2509 ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดย กองแบบแผน กรมโยธาเทศบาล ราคาค่าก่อสร้าง 2,734,700 บาท

พื้นที่อาคาร
ชั้นที่หนึ่งประมาณ 1,375 ตารางเมตร
ชั้นที่สองประมาณ 1,393 ตารางเมตร
รวม 2,798 ตารางเมตร




ภาพแสดงผังบริเวณและที่ตั้งอาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม และภาพถ่ายอากาศ
ที่มา : "เอกสารประกอบการแถลงข่าว ความเคลื่อนไหว 1ปีฮู้คิงเพื่อหอศิลป์",2548


แผนที่ ที่ราชพัสดุ
ที่มา : "เอกสารประกอบการแถลงข่าว ความเคลื่อนไหว 1ปีฮู้คิงเพื่อหอศิลป์",2548

ภาพสามมิติ แสดงให้เห็นพื้นที่ภายในอาคารชั้นที่1 และ ชั้นที่ 2 โดย พรชัย ตระกูลทิวากร

สายสืบหอศิลป์ฯ
อาทิตย์ 28
กันยา 51

ความเป็นมาโดยย่อของการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง

(ยังไม่ได้ทำการอ้างอิงและทวนหลักฐานอย่างสมบูรณ์)

1.
ประวัติศาสตร์ของพื้นที่

เดิมพื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเดิมนั้น เป็นอาณาเขตของหอคำ คุ้มหลวง ของเจ้าผู้ครองนครลำปาง นับว่าเป็นศูนย์กลางเมืองรุ่นที่ 3 ที่มีวัดบุญวาทย์ วัดหลวงกลางเวียงเป็นวัดสำคัญ เชื่อกันว่าเป็นย้ายเมืองมาเมื่อสมัยเจ้าคำโสม (พ.ศ.2329-2337) ภายในกำแพงเมืองรุ่นที่3 ยังเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่คือ หออะม็อกและชื่อประตูเมืองต่างๆ เช่น ประตูหัวเวียง ประตูศรีเกิด ประตูชัย ประตูศรีชุม ประตูสวนดอก ประตูเชียงราย ที่น่าสนใจก็คือว่ามีการสร้าง"หอคำนครลำปาง" สมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ (พ.ศ.2337-2368)

2.
พื้นที่ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ

อย่างไรก็ตามยังมีพื้นที่ที่เรียกว่า "คุ้มหลวง" ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย ขณะที่หอคำก็เป็นที่ว่าราชการซึ่งในสมัยปฏิรูปการปกครอง สยามดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ฝ่ายเจ้าผู้ครองนครลำปางก็ต้องยกคุ้มหลวงให้เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการของสยาม และกลายเป็นศาลากลางจังหวัดลำปางในเวลาต่อมา และปรากฏว่า ในปี 2507ก็มีการรื้ออาคารคุ้มหลวงเดิม และสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วเสร็จในปี 2509 ซึ่งในการวางศิลาฤกษ์ในปี 2507 และพิธีเปิดในปี 2509 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธี

3.
การเปลี่ยนแปลงความหมายของพื้นที่
ในที่สุดศาลากลางจังหวัดลำปาง ก็ได้ทำการย้ายไปสู่สถานที่แห่งใหม่ในปี 2542 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ก็ได้เข้ามาใช้พื้นที่สืบต่อ ในฐานะเป็นอาคารชั่วคราวขณะที่รอการดำเนินการก่อสร้างบริเวณ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

4.
แนวคิดหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางก็จะทำการย้ายออกไป ขณะนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช ก็เสนอให้มีการใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็น "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" ก่อนที่จะเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น นายอมรทัต นิรัติศยกุล ที่ส่งมอบพื้นที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ดูแลเพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ในชั้นต้นเมื่อ ปี2547 ตามหนังสือเลขที่ ลป.0016.3/2363 ลงนาม นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547

ช่วงเวลาดังกล่าวได้มีความพยายามจากกลุ่มผู้สนใจทางศิลปวัฒนธรรมในจำนวนหนึ่งที่มุ่งหวังจะผลักดันให้มีการจัดตั้ง "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้การผลักดันดังกล่าวยังรวมไปถึงภาครัฐที่ให้ความสำคัญในการตั้งงบประมาณให้มีการวิจัยอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามถึงปัจจุบัน ลำปางก็ยังไม่สามารถจะจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง หรือในนามของพิพิธภัณฑ์เมืองหรือท้องถิ่นได้ เนื่องจากปัญหาสำคัญที่สุดก็คือการขาดเจ้าภาพจากหน่วยงานรัฐที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลาง หรือส่วนท้องถิ่นเอง

จึงต้องรอคอย และคอยดูกันต่อไป.


ผังสันนิษฐานของการตั้งศูนย์กลางเมืองทั้ง 3 รุ่น โดยจะเห็นว่าได้ทำการย้ายฝั่งแม่น้ำมาสร้างเมืองใหม่ในรุ่นที่ 3
ที่มา : สุกัญญา เอี่ยมชัย วิทยานิพนธ์ "การศึกษาเพื่อเสนอแนวทางอนุรักษ์ชุมชนเมืองลำปาง",2539



ศาลาเค้าสนามหลวง นครลำปาง พื้นที่แห่งการบริหารอำนาจราชการของสยาม
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พระนคร



แผนที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปางพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2478 โดย กองรังวัด แสดงให้เห็นแผนผังของศาลากลางจังหวัดและอาณาบริเวณโดยรอบ จะสังเกตเห็นทิศทางของอาคารที่หันไปยังสถานีตำรวจ ลักษณะของอาคารก็มีการเปิดโล่งพื้นที่ว่างตรงกลาง ลักษณะคล้ายกับศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิมเช่นกัน
ที่มา : เทศบาลนครลำปาง



หน้าปก วารสารนครลำปางสาร ปีที่2 ฉบับที่4 ประจำเดือน เมษายน 2507 แสดงพระราชกรณียกิจเสด็จวางศิลาฤกษ์อาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังใหม่ เมื่อพ.ศ.2507


ภาพบริเวณสนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม ด้านหลังคือวัดบุญวาทย์วิหาร คาดว่าน่าจะเป็นการวางพวงมาลาวันปิยะมหาราช แต่ไม่ทราบปีพ.ศ.แน่ชัด สามารถประมาณได้ว่าหลังพ.ศ.2497 อันเป็นปีที่สร้าง อาคารโรงเรียนปริยัติธรรม(ขวามือของภาพ) และไม่ก่อนปีที่สร้างศาลาบาตรใหม่ (จะสังเกตเห็นศาลาบาตรยังมีหลังคาทรงต่ำอยู่)
ที่มาภาพ : จากหนังสืออนุสรณ์เล่มหนึ่ง(ในเบื้องต้นยังหาชื่อหนังสือไม่ได้)



หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับการปรับปรุงมาจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน คาดว่าชื่อของ"หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง" คงมีความเชื่อมโยงจากสถานที่แห่งนี้ ภายในเป็นพื้นที่แสดงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของการสร้างเมืองเชียงใหม่ รวมไปถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ใช้เวลาสร้างตั้งแต่พ.ศ.2536-2545 รวมเวลากว่า 9 ปี

สายสืบหอศิลป์ฯ
อาทิตย์ 28
กันยา 51